ผบ.เรือนจำราชบุรี เจ้าของไอเดียดีๆ Cook & Coff คาเฟ่ By ผู้ต้องขัง

Cook & Coff ค่าเฟ่ผู้ต้องขัง ผบ.เรือนจำราชบุรี ผุดไอเดีย ต่อยอดความสามารถ ชี้ ผู้ต้องขังต้องได้รับการบ่มเพาะสิ่งที่ถูกต้อง

อีจัน มีโอกาสไปที่ร้าน Cook & Coff @เรือนจำกลางราชบุรี
ใช่ อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ เรือนจำกลางราชบุรี

ใครจะไปคิดในเรือนจำจะมีสถานที่สวยๆ ติดภูเขาแบบนี้ด้วย

ภาพจากอีจัน

เเค่เปิดประตูเข้าไปในคาเฟ่ ก็รู้เลยว่า ร้านนี้อร่อยเเน่ เพราะลูกค้าเต็มร้านเลยค่ะ

อาหารที่ร้าน มีหลากหลายสไตล์ให้เลือก ทั้งอิตาเลี่ยน ญี่ปุ่น ที่ผสมผสานความเป็นไทยได้อย่างลงตัว ส่วนรสชาติ นึกว่า ระดับเชฟมาเอง

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ไอเดียคาเฟ่เรือนจำกลางราชบุรีนี้ มาจาก พี่ยุทธนา นาคเรืองศรี ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดราชบุรี ที่มีแนวคิดอยากส่งเสริมให้ผู้ต้องขังได้ฝึกวิชาชีพ ต่อยอดจากความสามารถที่มีอยู่เดิม และเมื่อออกไป ก็สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้

พี่ยุทธนา เล่าถึงที่มาคาเฟ่ ให้ฟังว่า เรือนจำราชบุรี เป็นเรือนจำกลางป่า มีพื้นฐานคือการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ เพราะจังหวัดราชบุรี มีแหล่งอาหารสมบูรณ์ เเละยังเป็นจังหวัดท่องเที่ยวด้วย

ตนเองเลยคิดว่า การที่จะนำพื้นฐานที่ผู้ต้องขังมีอยู่มาต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่ม ควรจะทำอะไร

พื้นที่ในเรือนจำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รกร้าง บ่อน้ำเก่า เกือบ 4 ไร่ จะทำอย่างให้มีมูลค่าทุกวัน และนโยบายของกรมราชทัณฑ์ต้องการคืนคนดีสู่สังคม เราต้องตอบโจทย์พื้นฐานให้ได้ แล้วต่อยอดไปเรื่อยๆ เลยคิดจะทำร้านอาหารขึ้นมา

ภาพจากอีจัน

แต่ยังเปิดได้ไม่นาน เมื่อประมาณปลายมกราคม จนเกิดโควิด-19 ระบาด ทำให้ต้องปิดร้าน และเพิ่งได้กลับมาเปิดร้านอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ลูกค้าก็เข้ามาใช้บริการเยอะ เพราะภาครัฐก็ช่วยกระตุ้น คนเริ่มพูดถึงกันมากขึ้นว่าเป็นที่ที่ทำบุญได้อย่างสบายใจแล้วก็อิ่มท้อง
ซึ่งพื้นที่ร้านทั้งหมดนี้และอุปกรณ์การตกแต่งร้านทั้งหมด มาจากฝีมือของผู้ต้องขังสร้างเองทุกอย่าง ตั้งแต่เทปูน มุงหลังคา สร้างโต๊ะ ต่อเก้าอี้ แล้วแต่งานถนัดของแต่ละคน

ภาพจากอีจัน

เมื่อจันถามว่าทำไมต้องทำ พี่ยุทธนาให้คำตอบว่า คนอาจมองว่าผู้ต้องขังต้องได้รับโทษ ทำไมถึงได้ออกมาทำงาน ตอนนี้เรากำลังมองความผิดมากกว่าความสามารถ ทั้งๆ ที่ด้านมืดได้ถูกชดเชยไปแล้ว
วันนี้จะต้องหันด้านสว่างออกมา จะต้องแก้ไขคนให้ตรงกับพื้นฐานของเขา เราต้องสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่ไม่ได้มีอย่างเดียว ถ้าเขาติดคุกด้วยการกระทำผิดจากความยากจน เราจะต่อยอดไปในทางสร้างรายได้ให้กับพวกเขา ผู้ต้องขังเขาไม่เคยคิดว่าขายต้นไม้จะได้เงิน คิดแต่ว่าขายยาจะได้เงิน แต่ถ้าเมื่อไหร่คิดได้ เขาก็จะต่อยอดไปได้เอง หรือปลูกผักแล้วนำกลับมาขายที่ร้าน ให้มีรายได้ หรือจะเรียกว่าเป็นวิธีการติดตามผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้วก็ได้
เราอยากให้วิธีคิดเขาเอาไปดูแลตัวเองให้มันห่างจากคุก แต่จะไม่บังคับว่าเขาจะต้องทำอะไร ยึดเอาความสามารถของผู้ต้องขังเป็นหลัก แล้วหาพื้นที่ให้เขาแสดงออก แต่ทุกอย่างยังต้องอยู่ในกฎของเรือนจำ นอกจากนี้ เรายังมีแรงใฝ่ดีไว้กระตุ้นเป้าหมายของผู้ต้องขังข้างใน คือกำลังใจที่ลูกค้าเข้ามา แล้วเขียนให้กำลังใจในสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีฝากผ่านเข้าไป
ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่ประโยชน์แก่ผู้ต้องขังอย่างเดียว แต่เป็นประโยชน์เพื่อสังคมด้วย เพราะถ้าผู้ต้องขังไม่กลับไปกระทำผิดอีก สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ จะไม่มีเหยื่อจากอาชญากรรม ลดคนที่จะเกิดผลกระทบจากการกระทำผิดของผู้ต้องขังคนเดิม สังคมต้องสงบสุขด้วยการลดจำนวนคนกระทำผิด

ภาพจากอีจัน

ซึ่งร้านคาเฟ่แบบนี้ พี่ยุทธนาเคยทำที่เรือนจำกลางจังหวัดอยุธยามาแล้ว แต่เป็นรูปแบบของคาเฟ่ในเรือนจำเก่า ซึ่งพี่ยุทธนาบอกว่า อยากทำให้แบรนด์ Cook & Coff ไม่ว่าจะ @ อะไรก็ตาม เป็นแบรนด์ที่ต้องการฝึกผู้ต้องขังให้มีทักษะ แก้ไขปรับตนเอง ยกระดับความรู้ความสามารถต่อยอดความคิดเพื่ออกไปเป็นคนดีให้ได้มากที่สุด เป็นโรงเรียนที่ทำให้สังคมสบายใจว่า ผู้ต้องขังได้รับการบ่มเพาะสิ่งที่ถูกต้อง
พี่ยุทธนาคิดไปไกลถึงว่า สักวันหนึ่ง ผู้ต้องขังที่ออกไปแล้ว สามารถเอาแบรนด์นี้ไปใช้ต่อได้
ซึ่งตอนนี้พนักงานที่ร้านมีอยู่ 13 คน มีคนชงกาแฟ 3 นักร้อง 3 คน ทำพิซซ่า 2 คน ที่เหลือก็ทำอาหาร แต่ก็มีพนักงานคนอื่นๆ อีก ซึ่งจะผลัดกันมาทำ เพราะในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ลูกค้าจะเยอะมาก ซึ่งกำไรของร้าน 50 % จะเป็นของผู้ต้องขัง 15 % ของเจ้าหน้าที่ และ จะเป็นทุนในการพัฒนาต่อไป 35 %

พี่ยุทธนา แอบกระซิบว่า ส่วนใหญ่วันธรรมดา กำไรจะอยู่ที่ 10,000 บาท ต่อเดือนก็ประมาณ 300,000 บาท โดยหลักเกณฑ์ผู้ต้องขังที่จะเข้ามาทำงานที่ร้านได้ คือต้องโทษครั้งแรก ไม่เคยทำผิดมาก่อน เป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไป กำหนดโทษไม่เกิน 5 ปี

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ถามว่าคิดจะขยายร้าน ไหม พี่ยุทธนาบอกว่ากำลังสร้างร้านอาหารไทยอยู่ และจะมีโซนขายต้นไม้ ให้คนผ่านไปผ่านมาซื้อต้นไม้กลับไปปลูก รวมทั้งกระถาง เครื่องปั้น ทุกอย่าง ผู้ต้องขังจะได้มั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีมูลค่า ไม่ใช่ว่า มูลค่าจะเกิดจากการขายยาอย่างเดียว ส่วนสินค้าที่นำมาขาย หากมีใครสนใจอยากจะเรียนรู้วิธีการทำ ก็อาจเปิดสอน นอกจากนี้อาจมีสนามเด็กเล่นเพื่อให้ลูกค้าที่พาเด็กๆ มา แล้วจะมีผู้ต้องขังเข้าไปดูแล เพราะการดูแลใครสักคนจะทำให้เราอ่อนโยนขึ้น อยากให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ตอบโจทย์การที่เราอยากให้สังคมสงบสุข เพราะฉะนั้น เราต้องให้พื้นที่เล็กๆ ของเราตรงนี้ปลอดภัยก่อน
พี่ยุทธนาทิ้งท้ายว่า อยากให้สังคมมั่นใจว่าสิ่งที่กำลังพยายามทำอยู่จะช่วยเสริมสร้างสังคมให้สงบสุข สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสดีที่เราจะเร่งทำการคืนคนดีสู่สังคม และลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ ลดการทำร้ายสังคม แล้วสังคมเราน่าจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น
ในฐานะข้าราชการราชทัณฑ์ ไม่เคยมีความสุขกับการที่จำนวนผู้ต้องขังมากขึ้น เสียใจและรู้สึกเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องลดจำนวนผู้กระทำผิดให้ได้ ถึงแม้จะเป็นปลายทาง แต่มันเป็นหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่สังคมให้เราทำ เราต้องพยายามทำให้เต็มที่

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ได้ฟังแบบนี้แล้ว จันเชื่อนะคะว่า สังคมของเราต้องน่าอยู่มากยิ่งขึ้นแน่นอน ขอแค่เราเปิดใจและให้โอกาสผู้กระทำผิดได้ปรับปรุงตัวในแนวทางที่ถูกต้อง จันขอเป็นกำลังใจให้นะคะ