ฟิลิปปินส์ รับมือหนัก ซูเปอร์ไต้ฝุ่น โคนี

ซูเปอร์ไต้ฝุ่น โคนี ถล่มเกาะลูซอน ฟิลิปปินส์ สั่งอพยพคน ปิดท่าเรือ-สนามบิน หนีพายุไต้ฝุ่น ที่รุนแรงที่สุดในปี 2020

(1 พ.ย.63) สำนักข่าวซินหัวรายงาน สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ฟิลิปปินส์ ระบุว่า พายุไต้ฝุ่น โคนี พายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุด ในปีนี้สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ ได้พัดขึ้นฝั่งที่ภูมิภาคบีโคล (Bicol) ทางใต้สุดของเกาะลูซอน ซึ่งเป็นเกาะหลักของ ฟิลิปปินส์ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
โดยสำนักงานบริการด้านบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ (PAGASA) รายงานว่า ไต้ฝุ่น โคนี ได้ทวีความรุนแรงเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมื่อเวลา 02.00 น. มีความเร็วลมสูงสุด 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วลมกระโชกสูงสุดที่ 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะพัดถล่มเมืองบาโต (Bato) ในจังหวัดคาตันดัวเนส ซึ่งเป็นเกาะทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะลูซอน เมื่อเวลาประมาณ 04.50 น. พร้อมระบุว่าพายุโคนีกำลังเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


ณ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้เสียชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการอพยพประชาชนจำนวนมากในภูมิภาคบีโคลออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว ด้วยเกรงว่าอาจเกิดอุทกภัยเป็นวงกว้าง รวมถึงเหตุดินถล่ม และมีคลื่นสูงถึง 3 เมตร ซึ่งหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์สั่งปิดท่าเรือหลายสิบแห่ง ทำให้มีนักท่องเที่ยวติดค้าง ส่วนทางสนามบินนานาชาติของกรุงมะนิลา เจ้าหน้าที่ได้ประกาศเมื่อคืนที่ผ่านมา (31 ต.ค.)ว่า สนามบินจะปิดให้บริการนาน 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของวันที่ 1 พ.ย.63

ภาพจากอีจัน
โดยประเทศฟิลิปปินส์ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “แนววงแหวนแห่งไฟ” ในมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟระเบิดหรือแผ่นดินไหว รวมถึงต้องเจอพายุไต้ฝุ่นเฉลี่ยปีละ 20 ลูก นำมาซึ่งเหตุน้ำท่วมและดินถล่ม ซึ่งพายุไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนมักพัดถล่มฟิลิปปินส์ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย โดยระหว่างปี 2010-2019 ฟิลิปปินส์สูญเสียเงินเนื่องจากภัยธรรมชาติมากถึง 4.63 แสนล้านเปโซ (ประมาณ 2.98 แสนล้านบาท)


ซึ่งซูเปอร์ไต้ฝุ่น โคนี เป็นพายุหมุนหรือพายุไซโคลนลูกที่ 18 ที่พัดถล่ม ฟิลิปปินส์ ในปีนี้ จะพัดผ่านจังหวัดเกซอนและพื้นที่อื่นๆ ทางตอนใต้ของกรุงมะนิลา และอาจอ่อนกำลังลงเมื่อพัดเข้าใกล้เมืองหลวง ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ทะเลจีนใต้ในช่วงเช้าวันที่ 2 พ.ย.63 โดยกรุงมะนิลาได้ปลดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่อยู่ตามถนน เนื่องจากเกรงว่าลมแรงอาจพัดพาให้ป้ายล้มลงและทำให้ผู้คนได้รับบาดเจ็บ