ประวัติพุทธคยา สังเวชนียสถาน สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า 

ประวัติพุทธคยา ตามรอยประวัติพุทธศาสนา ณ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานที่ที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สำหรับชาวพุทธแล้วการได้เดินทางไปยังดินแดนต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา ได้ไปสักการะบูชาสถานที่ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน หรือที่เรียกกันว่าสังเวชนียสถาน 4 ตำบล เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของพระพุทธเจ้า จากสถานที่จริงถือเป็นสิ่งที่ชาวพุทธผู้ที่มีความศรัทธาควรจะมีโอกาสได้เดินทางไปสักการะสักครั้งในชีวิต  

วันนี้ อีจัน ได้มีโอกาสเดินทางมาร่วมงานบรรพชาอุปสมบท 77 รูป ที่เมืองพุทธคยา อินเดีย ซึ่งจะมีการบรรพชาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เจดีย์พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ มอบหมายให้ พระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เจ้าคณะภาค 7 เป็นประธานฝ่ายบรรพชิต พร้อมด้วยพระธรรมโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล พระวิเทศวชิรญาณ วิ. รักษาการเจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ พระเถรานุเถระ และข้าราชการ พุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธี

อีจัน เลยได้มีโอกาสเที่ยวชม 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน อย่าง พุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงขอนำประวัติคร่าวๆของสถานที่สำคัญของพุทธศาสนาแห่งนี้มาเล่าสู่กันฟัง

พุทธคยา Bodhgaya คือ พุทธสถานสำคัญในศาสนาพุทธ ตั้งอยู่ที่ เขตคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ถือเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ ตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถานอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู   

พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ องค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น  

ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทย คือ วัดไทยพุทธคยา สำหรับชาวพุทธนั้น พุทธคยา นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง ที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลกที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ 1 ใน 4 แห่งของพระพุทธศาสนา  

โดยในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก สำหรับพุทธคยาในสมัยพุทธกาลนั้นอยู่ในดินแดนที่เรียกกันว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ในแคว้นมคธ

พุทธคยาในสมัยพุทธกาล หลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถาแต่เมื่อคราวพระอานนท์ ได้มา ณ พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต่อมาต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวัน จึงได้ชื่อว่าอานันทโพธิ์ และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน 

สำหรับความเป็นไปขององค์พระมหาโพธิเจดีย์นั้น พระเจ้าหุวิชกะ มีพระราชศรัทธาสร้างมหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ในปี พ.ศ. 694 เพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท โดยได้สร้างเป็น พระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมทรงรีสวยงามติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ทางทิศตะวันออก มี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นสถานที่กราบนมัสการและชั้นบนเป็นห้องเจริญภาวนา ลักษณะของพระมหาโพธิเจดีย์มีเอกลักษณ์เฉพาะและตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของมหาโพธิมณฑลมากว่าสองพันปี ในบางช่วงพระราชาแห่งแคว้นต่าง ๆ ได้เข้ามาทำนุบำรุงอยู่เสมอ และได้รับการบูชารักษาจากชาวพุทธมาตลอด แต่มาขาดตอนไปเมื่อช่วงพันกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแผ่นดินอินเดียแถบนี้ถูกคุกคามจากสงครามและการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้างและถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง รวมทั้งแปลงมหาโพธิเจดีย์เป็นเทวสถาน 

โดยเหตุการณ์ที่พุทธคยาถูกชาวฮินดูครอบครองนั้น เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2133 ซึ่งการที่พราหมณ์มหันต์เข้ามาครอบครองพุทธคยานั้นก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไร จากบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ (Sir Edwin Arnold) กล่าวกันว่า เป็นพุทธประวัติฉบับภาษาอังกฤษ ที่มีความไพเราะ และน่าเลื่อมใสมาก คือ ประทีบแห่งเอเชีย (The Light of Asia) ซึ่งท่านเซอร์ ได้เดินทางไปที่พุทธคยา และได้พบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านได้เขียนบทความไว้ตอนหนึ่งว่า 

ในความเป็นจริง ไม่มีข้อกังขาสงสัยใดๆ ของสถานที่สังเวชนียสถาน 4 ตำบลของชาวพุทธ คือ กบิลพัสดุ์ (ปัจจุบัน Bhuila) ซึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ณ ป่าอิสิปตนะ ภายนอกเมืองพาราณสี ซึ่งพระพุทธองค์ได้แสดงธรรมเทศนา กุสินารา ที่พระองค์ได้ปรินิพพาน และสถานที่ตรัสรู้ซึ่งมี ต้นโพธิ์เป็นเครื่องหมาย ในวันเพ็ญเดือน 6 เมื่อ 2383 ปี มาแล้ว พระองค์ได้บำเพ็ญเพียรทางจิตและ มีศรัทธาเป็นอย่างมาก ซึ่งพระองค์ได้นำ ความเจริญทางอาารยธรรม มาสู่เอเชีย บรรดาสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา คือสิ่งที่มีค่าและศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วทั้งเอเชีย  

จนในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลอินเดีย โดยการนำของ ฯพณฯ เยาวหรลาล เนรูห์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ได้เฉลิมฉลองพุทธชยันตี (วิสาขบูชา) โดยเชิญชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก มาสร้างวัดไว้ในดินแดนต้นพุทธอุบัติภูมิ ซึ่งประเทศไทยโดยการนำของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ตอบรับและดำเนินการสร้างวัดเป็นชาติแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 และประเทศชาวพุทธอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น พม่า เกาหลี จีน ศรีลังกา ธิเบต ฯลฯ ได้ดำเนินการสร้างวัดต่อมาตามลำดับ และรัฐบาลอินเดียได้มีส่วนสำคัญในการบูรณะพุทธคยาอย่างต่อเนื่องจนมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน 

พุทธคยาในปัจจุบันเป็นพื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติ เหมือนหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่าสองพันปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่ในบริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ทำให้ผู้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ต้องเดินลงบันไดกว่าหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับพื้นดินเดิมที่เป็นฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ ปัจจุบันพุทธคยาได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ พระมหาโพธิเจดีย์ อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยม สูง 170 ฟุต วัดโดยรอบฐานได้ 121.29 เมตร ภายในประดิษฐาน พระพุทธเมตตา พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลายจากพระเจ้าศศางกา พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบศิลปะปาละ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก

พระแท่นวัชรอาสน์ แปลว่าพระแท่นมหาบุรุษใจเพชร สร้างด้วยวัสดุหินทรายเป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม กว้าง 4.10 นิ้ว 7.6 นิ้ว หนา 5 นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพระแท่นจำลองขึ้นทับพระแท่นเดิมเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้ ปัจจุบัน ประชาชนและรัฐบาลประเทศศรีลังกาได้อุทิศสร้างกำแพงแก้ว ทำด้วยทองคำแท้  ประดิษฐานรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระแท่นวัชรอาสน์ และนอกจากนี้ บริเวณพุทธคยาและโดยรอบยังมีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น กลุ่มพระเจดีย์เสวยวิมุตติสุข สระมุจลินทร์ บ้านนางสุชาดา ถ้ำดงคสิริ (สถานที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกกรกิริยา) วัดพุทธนานาชาติ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ต่อมาชาวพุทธทั่วโลกจึงได้ร่วมเสนอขอให้พุทธคยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จนในที่สุด ในปี พ.ศ. 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจึงได้พิจารณาให้พุทธคยาเป็นมรดกโลก 

ขอบคุณข้อมูลจาก : watthaibuddhagaya935.com