ระวัง! 5 ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ควรแชร์ในโลกออนไลน์

สพร. เตือน! ห้ามเผยแพร่ 5 ข้อมูลส่วนบุคคล ลงบนโซเชียล เสี่ยงถูกโจรกรรม

ปัจจุบันเรามักจะพบข่าวประชาชนถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ซึ่งพบว่ามีลักษณะคล้ายกันคือการได้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ให้มิจฉาชีพแสดงตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ และนำไปสู่การถูกโจรกรรมทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินในบัญชีเงินฝาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ (18 กันยายน 2565) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงหรือโจรกรรมข้อมูลในเบื้องต้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ได้มีคำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่น บนช่องทางออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่รู้จัก และหลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย ที่มีลักษณะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในที่สาธารณะ เช่น การรับรหัส ATM นำโชค ที่มีการแจกให้กับผู้มีความเชื่อเกี่ยวกับตัวเลข ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้

สำหรับข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญ 5 ประเภท ที่ สพร. เตือนให้ระมัดระวังไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่น ประกอบด้วย

1.หมายเลขข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขหนังสือเดินทาง

2.ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล

3.ข้อมูลธนาคาร เช่น เลขบัญชี รหัส ATM, เลขบัตรเครดิต

4.ข้อมูลทางชีวมิติ เช่น ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา

5.ข้อมูลอุปกรณ์ เช่น IP Address, Mac Address, Cookie ID

นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ที่ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดการรั่วไหล ทั้งข้อมูลทรัพย์สิน รวมถึงข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ เช่น วัน เดือน ปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลทางการศึกษา ข้อมูลการจ้างงาน หรือข้อมูลที่ผู้อื่น สามารถค้นหาบนอินเทอร์เน็ตได้

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเป็นการเตือนให้เราระมัดระวังตัวเองนะคะ ไม่ควรไว้ใจใครง่ายๆ รวมถึงควรมีการตรวจสอบข้อมูลของคนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่เราจะส่งข้อมูลให้ด้วย จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพนะคะ

คลิปอีจัน แนะนำ