เปิดตำนานเล่าขาน 200 ปี พระแก้วขาว พระคู่บ้านคู่เมืองสังขละบุรี

ทุกที่ ทุกสถาน ทุกแห่งหน มักจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เคียงคู่ เพื่อเสริมสิริมงคล แก่ที่นั้นๆ หรือ ปกครองให้คน ที่อยู่ในสถานที่แห่งนั้นร่มเย็น…

เมื่อที่แล้ว (ธันวาคม 2566) จันได้เดินทางไปยังดินแดนที่ลึกสุดใจ และทรหดสุดๆ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่อันไร้ซึ่งแสงไฟยามค่ำคืน สัญญาณอินเทอร์เน็ต ใช้ชีวิตอยู่ในป่า นอนที่ที่พักสงฆ์

นอกจากจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของชาวกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่แล้ว จันยังได้รับรู้ตำนานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสังขละบุรี ที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือ เลื่อมใสศรัทธา

พระแก้วขาว หรือ พระพุทธรัตนสังขละบุรีศรีสุวรรณ พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวสังขละบุรี เล่าขานต่อกันมาตามคำบอกเล่าของชาวกะเหรี่ยงจากรุ่นสู่รุ่น…

ตำนานกว่า 200 ปี ศูนย์รวมใจชนชาติกะเหรี่ยงสังขละบุรี

พระแก้วขาว ปรากฏเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า รัชกาลที่ 3 ให้แม่ทัพนายกองไปตีเมืองเวียงจันทร์ที่แข็งข้อไม่ยอมขึ้นต่อประเทศสยาม เมื่อทำศึกครั้งนั้นได้รับชัยชนะ สำเร็จโทษเจ้าเมืองเวียงจันทร์นำตัวลงมาที่กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ภัยศึกสงครามข้างพม่า ลดน้อยลงเมื่อฝ่ายอังกฤษชนะพม่า เข้ายึดพม่าได้

แต่ภัยคุกคามที่อันตราย และน่ากลัวยิ่งกว่าคือภัยการล่าอาณานิคมของพวกฝรั่งชาติตะวันตก แผ่อิทธิพลขยายดินแดนรอบๆ ประเทศสยาม ทั้ง อินเดีย พม่า ญวณ ก็ล้วนตกเป็นเมืองขึ้นต่างชาติทั้งสิ้น

ดังนั้น ผลทางด้านดินแดน เอกราชของประเทศ และการเมือง รัชกาลที่ 3 พระองค์ได้ดำเนินสัมพันธไมตรีต่อเจ้าเมืองเหล่านี้ เนื่องจากหากเจ้าเมืองเหล่านี้ไปขึ้นแต่ข้างฝ่ายฝรั่งก็จะทำให้เสียดินแดน เอกราชแห่งรัฐได้ จึงได้ผูกไมตรีต่อเมืองสังขละบุรี พระราชทานมอบพระแก้วให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสังขละบุรี แด่พระยาศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรี โดยหวังว่าเจ้าเมืองเหล่านั้นไม่ขึ้นกับฝ่ายนักล่าอาณานิคม เมื่อครั้งที่ร่วมถือน้ำพิพัฒน์สัจจา (ดื่มน้ำสาบาน) ณ เมืองกาญจนบุรี เมืองสังขละบุรี อันเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญต่อประเทศสยาม

และพระแก้วขาว ได้ประดิษฐาน ณ บ้านสะเนพ่อง ตั้งแต่นั้นมา

อีกหนึ่งเรื่องเล่าขาน ที่คล้ายกัน…

บันทึกตามคำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น เพราะอดีตชาวกะเหรี่ยงไม่มีหนังสือ จึงเล่าต่อกันมาดังนี้

พระแก้วขาว ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยไว้เป็นพระคู่เมืองสังขละบุรี พระแก้วมีอยู่สามองค์ (สามพี่น้อง) โดยประดิษฐานไว้ที่เมืองหน้าด่านทิศตะวันตก 1 องค์ (สังขละ) ประดิษฐานไว้ที่เมืองหน้าด่านตะวันออก 1 องค์ (อีสาน) และประดิษฐานไว้ที่เมืองหน้าด่านทิศเหนือ อีก 1 องค์

พระแก้วขาวได้รับประทานจากองค์เหนือหัวรัชกาลที่ 3 เมื่อระหว่างปี พ.ศ.2368 ถึง พ.ศ.2384 ครั้งที่มีการตั้งเมืองสังขละบุรี โดยประทานให้กับพระศรีสุวรรณคีรีที่ 1 (ภู่ว่าโม่) ณ บ้านสะเนพ่อง หรือเมืองพระสุวรรณ โดยถือน้ำพิพัฒน์สัตติยา เมื่อครั้งมีพิธีตั้งหลักเมืองสังขละ โดยพระศรีสุวรรณคีรีที่ 1 ได้น้อมเกล้าถวายช้างเผือกแด่รัชกาลที่ 3 ยังส่งผลให้คนกะเหรี่ยงเมืองสังขละบุรีได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปเกณฑ์ทหารหรือไพร่พลสงคราม ช่วงในการครองราชย์ของรัชกาลที่ 3 (ช่วงนั้นได้มีการปราบกบฏเมืองลาวขึ้น ตามพระราชนิพนธ์ นิราชเดินทัพเรื่องลิขิตเสด็จขัดตาทัพพม่าเมืองกาญ พ.ศ.2363)

โดยขณะนั้นได้กล่าวถึงพระสุวรรณคีรีและเมืองสังขละ โดยพระสุวรรณคีรีเป็นทัพหลวง หลังจากยึดเมืองลาวได้แล้ว ก็ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจากเมืองลาวหลายองค์ และหนึ่งในนั้นคือ พระแก้วสามพี่น้อง ซึ่งประเทศสยามในสมัยนั้น ได้มีการมอบพระประจำเมืองไว้ตามหัวเมืองต่างๆ เช่น หัวเมืองกะเหรี่ยงตะวันตก (สังขละ) หัวเมืองลาวพุงดำ (เหนือ) หัวเมืองลาวพุงขาว (อีสาน) และหัวเมืองมาลายู (ใต้) เพื่อให้หัวเมืองต่างๆ ได้เป็นแนวกันชนในการล่าอาณานิคมของอังกฤษ

และยังมีประวัติเล่าต่อๆ กันมาว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จมาเยี่ยม ณ หมู่บ้านสะเนพ่อง และได้ทรงปลูกต้นไม้และพักค้างแรม ณ หมู่บ้านนี้ รวมถึงมีการเอ่ยขอพระแก้วขาวกับพระศรีสุวรรณในขณะนั้น พระศรีสุวรรณทรงประทานให้ แต่เมื่ออัญเชิญพระแก้วขึ้นสู่หลังช้าง ช้างถึงกับหมอบและร้องเสียงตัง จนรัชกาลที่ 5 ถึงกับเอ่ยปาก และทรงให้พระแก้วขาวประดิษฐานไว้ที่เดิม คือ ณ หมู่บ้านสะเนพ่อง จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามหากจะทราบประวัติที่แท้จริง คงต้องนำอักษรล้านช้างที่จารึกไว้บนแผ่นเงินที่เป็นฐานพระพุทธรูป ไปให้ผู้เชี่ยวชาญแปล

อย่างไรก็ตามชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าหากมีการเคลื่อนย้ายพระแก้วขาวคู่บ้านคู่เมืองสังขละบุรีออกนอกเมืองสังขละเมื่อใด มักจะเกิดฟ้าดินอาเพศ ฝนตกแผ่นดินไหว ธรรมชาติวิปริต ซึ่งเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า “สมบัติเป็นของเมืองสังขละบุรี และสมบัติของเจ้าเมืองสังขละบุรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองสังขละบุรี มาแต่ครั้งโบราณ ควรคู่ประดับอยู่ที่เมืองสังขละบุรี”

ซึ่งในทุกๆ ปี จะมีการอัญเชิญพระแก้วขาว ออกมาให้ลูกหลานกะเหรี่ยงสักการะปีละ 1 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ของทุกปี…

นับเป็นบุญของอีจัน ที่ได้มาเห็นพระแก้วขาว ได้กราบสักการะ และยังได้รับรู้ตำนานเล่าขานที่เล่าสืบต่อกันมา 200 ปี อันเป็นประวัติศาสตร์ ก่อเกิดประเพณี ความเชื่อ และศรัทธา ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง บ้านสะเนพ่อง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี