กรมศิลป์ฯ ตรวจสอบ “โครงกระดูกมนุษย์โบราณ” โผล่โคราช คาดอายุ 1,500 ปี

กรมศิลป์ฯ ตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ถูกน้ำป่าไหลเซาะดินโผล่ขึ้น อ.ครบุรี นักโบราณคดีคาดเป็นเพศชาย มีอายุราว 1,500 – 3,000 ปี 

(21 พ.ค. 68) สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา มอบหมายให้เจ้าหน้าที่นำทีมงานเข้าตรวจสอบโครงกระดูกโบราณ และภาชนะดินเผาที่ถูกพบภายในร่องน้ำริมถนนลูกรัง ลึกประมาณ 1.5 เมตร ที่ถูกแรงน้ำหลากกัดเซาะจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันหลายวัน ติดพื้นที่การเกษตรหมู่บ้านไร่แหลมทองพัฒนา หมู่ที่ 12 ตำบลลำเพียก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งมีชาวบ้านผ่านมาพบ และทางอำเภอครบุรีได้แจ้งไปยังทางสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ตั้งแต่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา 

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบโครงกระดูกและเศษชิ้นส่วน ทั้งส่วนที่เป็นชิ้นส่วนกระดูกและเครื่องปั้นดินเผากระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณในรัศมี 50 เมตร ในจำนวนนั้นมีโครงกระดูกที่อยู่ในสภาพท่อนล่างสมบูรณ์ พร้อมกับมีหม้อปั้นดินเผาหลายใบกองอยู่บริเวณปลายเท้า เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดเก็บรายละเอียดโครงนี้ 1 ร่าง ก่อนจะเก็บรวบรวมกระดูกชิ้นส่วนทั้งหมดพร้อมกับภาชนะดินเผา ซึ่งเป็นของอุทิศให้กับศพพบบริเวณปลายเท้า จำนวน 5 ใบ และใกล้เคียงกันยังพบโบราณวัตถุ อาทิ ขวานหินขัด กระสุนดินเผา กลับไปตรวจสอบรายละเอียด เพื่อระบุอายุและสมัยของโครงกระดูกดังกล่าว และใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ว่า มีความสำคัญทางโบราณคดีมากน้อยแค่ไหน

ในเบื้องต้น นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา สันนิษฐานว่า โครงกระดูกดังกล่าว คาดว่าจะเป็นโครงกระดูกมนุษย์เพศชาย เนื่องจากกระดูกเชิงกรานแคบ กระดูกต้นขาและหน้าแข้งใหญ่ นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 

นายวรรณพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ที่พบโครงกระดูกมนุษย์ลักษณะนอนหงาย ฝังร่วมกับภาชนะดินเผา ถือเป็นร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ เชื่อว่าน่าจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 1,500 – 3,000 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนการรับพุทธศาสนาในดินแดนประเทศไทย 

ก่อนหน้านี้ บริเวณดังกล่าว ไม่เคยขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีมาก่อน จากการสำรวจชั้นดินพบชิ้นส่วนของกระดูกมนุษย์ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา และกระดูกสัตว์กระจายตัวอยู่ในระยะ 50 เมตร พิจารณาจากลักษณะภูมิประเทศพบว่า เป็นเนินดินขนาดใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี พบว่าพื้นที่เนินดินขนาดใหญ่เช่นนี้ถูกใช้เป็นแหล่งฝังศพมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์