แบบนี้ได้หรอ! ข่าวปลอมเต็มทวิตเตอร์ แถมคนกุ ได้ส่วนแบ่งค่าโฆษณาด้วย

เตือนภัย! ทวิตเตอร์ข่าวปลอมกระหึ่ม ไร้คนควบคุม แถมคนกุ ได้ส่วนแบ่งค่าโฆษณาด้วย ระวังไว้ จะถูกหลอกไม่รู้ตัว

ผู้ให้บริการตรวจสอบข้อเท็จจริง NewsGuard เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ข่าวลวงและข่าวปลอมในเดือนพ.ย.66 โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์ม X (Twitter) ที่พบการแพร่ระบาดของข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนอย่างหนัก และไม่มีการดำเนินการจากทางผู้ดูแล หรือระบบของแพลตฟอร์มเลย

ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่า บัญชีผู้ใช้ที่แพร่กระจายข่าวปลอมบนแพลตฟอร์ม X นี้มีเครื่องหมาย “ยืนยันตัวตน” หรือติ๊กถูกสีฟ้า ซึ่งในอดีตมีเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือเท่านั้นที่จะได้รับเครื่องหมายนี้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป เนื่องจากใครๆ ก็สามารถมีเครื่องหมายนี้ได้ โดยเพียงแค่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือน

ในขณะเดียวกัน องค์กร NewsGuard ได้ค้นพบว่าบนแพลตฟอร์ม X มีโฆษณาที่ได้รับการบูสต์ หรือการจ่ายเงินเพื่อเพิ่มยอดการเข้าถึง ซึ่งเป็นโฆษณาข่าวปลอมหรือข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดถึง 86 รายการ โดยมีผู้เข้าถึงโฆษณาเหล่านี้ถึง 92 ล้านครั้ง และส่วนใหญ่ของข่าวเหล่านั้น เป็นข่าวที่บิดเบือนเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์ม X ได้เข้าสู่กระบวนการตอบโต้และฟ้องร้ององค์กรที่ดูแลสื่ออย่าง Media Matters โดยกล่าวหาว่า Media Matters ได้หมิ่นประมาทแพลตฟอร์ม X ผ่านรายงานที่ระบุว่าโฆษณาของแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Apple และ Oracle ปรากฏข้างๆ กับโพสต์ที่มีเนื้อหาเหยียดเชื้อชาติและยกย่องพรรคนาซี ซึ่งอาจทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าแบรนด์เหล่านี้สนับสนุนเนื้อหาดังกล่าว

เอกสารภายในของบริษัทต่างๆ เปิดเผยว่า มีแผนกโฆษณามากกว่า 200 แผนกจากบริษัทชั้นนำอย่าง Airbnb, Amazon, Coca-Cola และ Microsoft ที่ได้หยุดหรือกำลังพิจารณาที่จะหยุดการลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม X ชั่วคราว เนื่องจากต้องการป้องกันการเข้าใจผิด และเป็นการตอบสนองต่อการที่แพลตฟอร์ม X ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโพสต์เหยียดเชื้อชาติ

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ ผู้ใช้ที่เผยแพร่ข่าวปลอมบนแพลตฟอร์ม X และมีเครื่องหมาย “ยืนยันตัวตน” หรือติ๊กถูกสีฟ้า “มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งจากรายได้โฆษณา” จากข่าวปลอมที่พวกเขาเผยแพร่ เนื่องจากโพสต์ที่มีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าที่ได้รับการตอบรับหรืออ่านมากๆ จะมีโฆษณาปรากฏขึ้นในระหว่างคอมเมนต์ ซึ่งผู้โพสต์สามารถได้รับส่วนแบ่งจากรายได้โฆษณาเหล่านั้น

ในทางตรงกันข้าม บนแพลตฟอร์มอื่นอย่าง Facebook หากมีโพสต์ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด จะมีการทำงานร่วมกับเครือข่าวสื่อมวลชนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและใส่กรอบข้อเท็จจริงไว้ใต้โพสต์นั้น รวมถึงมีการถามย้ำผู้ใช้ว่าจะแชร์โพสต์ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ ก่อนที่จะแชร์ต่อ

ขอบคุณที่มา: springnews