มาตราการรองรับ หลัง โควิด-19 เปลี่ยนผ่านสู่ โรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค. นี้

1 ต.ค. นี้ เมื่อโควิด-19 เปลี่ยนผ่านสู่ โรคเฝ้าระวัง สิทธิการรักษาปรับใหม่ ไปอย่างไรบ้าง เช็กให้รู้

ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง พร้อมมาตรการรองรับหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสิ้นสุด ศบค. ทั้งระบบสาธารณสุข มีเตียงเพียงพอ การรักษายังฟรีตามสิทธิ์แต่ละคน ยกเว้นฉุกเฉินวิกฤตเข้า UCEP PLUS ส่วนวัคซีนขอให้ฉีดเข็ม 4 เป็นอย่างต่ำ

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีความกังวลในเรื่องของสิทธิ์การรักษาผู้ป่วย ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้นัดกองทุนที่เกี่ยวข้องมาหารือเรื่องสิทธิ์การรักษา โดยยืนยันว่าการรักษา ยังเป็นการรักษาฟรีตามสิทธิ์ ครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย ยา ฯลฯ โดยทั้ง 3 กองทุนได้เตรียมงบประมาณไว้รองรับแล้ว

กรณีผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ์ UCEP PLUS สำหรับสถานพยาบาลชั่วคราว ทั้งฮอสพิเทล โรงพยาบาลสนาม ฯลฯ จะยุติทั้งหมดในสิ้นก.ย.นี้ แต่หากมีสถานการณ์อะไรก็ประกาศเปิดใหม่ได้ ส่วนแรงงานต่างด้าว กรณีมีประกันสุขภาพก็ให้ใช้สิทธิ์ประกันฯ แต่หากไม่มีประกันฯ ก็จ่ายค่ารักษาเองตามระบบ

สำหรับการใช้สิทธิ UCEP Plus กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงหลักเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 โดยกำหนดให้เฉพาะผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเจ็บป่วยวิกฤต (สีแดง) สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกแห่งได้ และไม่มีเงื่อนไข 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งต้องมีอาการเจ็บป่วยวิกฤตตามเกณฑ์ UCEP Plus เช่น มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ทางเดินหายใจอุดกั้น หายใจหอบเหนื่อย มีภาวะที่ทำให้อาการระบบทางเดินหายใจรุนแรง ไม่สามารถหายใจได้ มีภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำ หรืออาการอื่นๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้

ส่วนผู้ป่วยโควิด19 อาการสีเหลือง เช่น กลุ่ม 608 ที่ไม่มีอาการ จะไม่ครอบคลุมสิทธิ UCEP Plus แต่สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิสุขภาพของตนได้

สปสช. แจงหลักเกณฑ์การบริการโรคโควิด-19 ภายหลัง สธ. ประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำผู้ป่วยโควิด-19 คงรักษาฟรีเหมือนเดิม แต่เป็นการรับบริการตามสิทธิรักษาพยาบาลที่ตนเองมีอยู่

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่โรคโควิด-19 ได้ปรับเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง ประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอยู่ตามปกติ โดยให้เป็นการรับบริกาตามสิทธิสุขภาพที่ตนเองมีสิทธิอยู่ และที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการจัดทำและประกาศหลักเกณฑ์การเข้ารับบริการกรณีโควิด-19 ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาตามรายละเอียดดังนี้

1. การจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับคนไทยทุกสิทธิ ได้แก่ ค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ค่าบริหารจัดการศพ ค่าความเสียหายจากการฉีดวัคซีน จะถูกยกเลิก แล้วปรับใช้สิทธิจากกองทุนสุขภาพของแต่ละกองทุนตามระบบปกติ ซึ่งในส่วนของ สปสช. หากเกิดกรณีความเสียหายหลังฉีดวัคซีน จะใช้ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการจ่ายชดเชยเบื้องต้นแทน

2. ค่าบริการดูแลรักษาผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยนอก ค่าบริการแบบ OP Self Isolation หรือเจอ แจก จบ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ที่จ่ายให้หน่วยบริการจะถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นจ่ายชดเชยผู้ป่วยนอกตามระบบปกติ กรณีใช้บริการที่หน่วยบริการประจำ ค่าใช้จ่ายจะรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่หากรับบริการนอกหน่วยบริการประจำ ยังมีรายการให้เบิกจ่ายเป็น กรณี ATK professional จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาท และ RT-PCR จ่ายตามจริงไม่เกิน 900 บาท

กรณีผู้ป่วยใน จากเดิมที่จ่าย On Top จากระบบ DRG ได้แก่ ค่าห้องตามระดับความรุนแรงของโรค ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการ/อุปกรณ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และค่ายารักษาโควิด-19 เปลี่ยนเป็น จ่ายตามระบบ DRG จากกองทุนผู้ป่วยในระดับเขต ยกเลิกการจ่าย On Top ค่าห้องและค่าอุปกรณ์ป้องกัน ส่วนยารักษาโรคโควิด-19 ยังสามารถเบิกจากกระทรวงสาธารณสุขได้ต่อไป

3. ค่ายานพาหนะส่งต่อตามระยะทาง จากเดิมที่รวมค่าทำความสะอาดอุปกรณ์ PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท เปลี่ยนเป็น จ่ายเฉพาะค่าส่งต่อตามระยะทางกรมทางหลวงตามเดิม ยกเลิกการจ่ายค่า PPE และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ

4. ค่าบริการฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จากเดิม จ่ายค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อครั้ง และค่ายานพาหนะส่งต่อรวมค่าทำความสะอาดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท เปลี่ยนเป็นจ่ายเฉพาะค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ยกเลิกการจ่ายค่า PPE และค่ารถส่งต่อกรณีผู้ป่วยนอก

5. ค่าบริการกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เปลี่ยนเป็นค่าบริการผู้ป่วยนอกและค่าบริการผู้ป่วยในตามระบบปกติ ยา IVIG จ่ายตามระบบ VMI

อย่างไรก็ตาม ยังคงให้มีการบริการแบบ OP Self Isolation หรือเจอ แจก จบ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้การดูแลทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ส่วนรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านยาจะให้เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. นี้

นอกจากนี้ยังคงการให้บริการรักษาโรคโควิด-19 ทางระบบออนไลน์ หรือ Telemedicine ผ่าน 4 แอปพลิเคชั่น ซึ่งจะมีบริการส่งยาฟรีถึงบ้าน

ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ / รัฐบาลไทย

คลิปแนะนำอีจัน
มนุษย์ป้าแสบ สั่งของแล้วไม่รับ