ฝีดาษวานร รายแรกในไทยสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก

กรมควบคุมโรค ชี้ ฝีดาษวานร รายแรกในไทยสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกเชื้อไม่แรง ย้ำ! ติดเชื้อจากสัมผัสใกล้ชิด ตุ่มฝีหนองมีเชื้อมาก

วันนี้ (22 ก.ค. 65) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวผ่านเพจบุ๊กไลฟ์ของกรมควบคุมโรค เกี่ยวกับการพบผู้ป่วยยืนยัน “โรคฝีดาษวานร” หรือ “ฝีดาษลิง” ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานรอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อเฝ้าระวัง ตามที่ได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา

ไทยพบผู้ป่วย โรคฝีดาษวานร รายแรก! ที่จ.ภูเก็ต

อาการของ “โรคฝีดาษวานร” ที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เจ็บคอ มีตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง ศีรษะ ลำตัว อวัยะเพศ ทวารหนัก แขนขา บางตุ่มอาจจะขึ้นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า เมื่อประกาศเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว การดำเนินงานคือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร รวมถึงพนักงานควบคุมโรคต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการในโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และมีการรายงานโรคและเหตุที่ต้องสงสัยต่ออธิบดีกรมควบคุมโรค โดยทางจังหวัดภูเก็ตได้มีการค้นหาผู้ป่วย และได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี ที่มีอาการเข้ากับโรคฝีดาษลิง โดยคณะกรรมการวิชาการโรคติดต่อได้ประกาศยืนยันเมื่อเย็นวันที่ 21 ก.ค.65

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กระบวนการยืนยันผู้ป่วยรายแรกจะมีขั้นตอนที่สำคัญอยู่หลายประการ แต่ขั้นตอนการสอบสวนควบคุมโรคจะกระทำทันที และได้พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย ซึ่งเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งยังไม่มีอาการป่วย ส่งไปตรวจและไม่พบโรค จึงต้องสังเกตอาการและกักตัวอีก 21 วัน พร้อมทั้งตรวจสอบสถานบันเทิงที่ผู้ป่วยยืนยันเคยไปเที่ยว 2 ที่ พบ 6 รายมีอาการใกล้เคียง คือ มีไข้ เจ็บคอ แต่ไม่พบการติดเชื้อฝีดาษวานร จึงให้สังเกตอาการและกักตัว ทั้งนี้นอกจากสอบสวนโรคแล้ว ยังเข้าไปกำจัดเชื้อในห้องพักของผู้ป่วย พร้อมรายงานผู้ป่วยรายแรกที่พบในไทยให้องค์การอนามัยโรครับทราบแล้ว

นายแพทย์โอภาส กล่าววว่า เมื่อดูตามข้อมูลพบว่าโรคฝีดาษวานรความรุนแรงไม่ได้มากนัก การติดต่อก็ไม่ได้รวดเร็ว จากข้อมูลสถานการณ์โรคฝีดาษวานรเมื่อวันที่ 17 ก.ค.65 พบว่า มีผู้ป่วยยืนยัน 12,608 ราย ใน 66 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 2,835 ราย เยอรมัน 1,859 ราย สหรัฐอเมริกา 1,813 ราย อังกฤษ 1,778 ราย และฝรั่งเศส 908 ราย

อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษวานร พบหลัก ๆ อยู่ที่ประเทศแถบยุโรป อเมริกา และเอเชียก็มีพบบ้างแล้ว ที่สิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย

ข้อมูลทางระบาดวิทยา ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีข้อสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการสัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วย โดยเฉพาะตุ่มฝีหนองมีเชื้อจำนวนมาก ไม่ใช่จากการหายใจ ส่วนใหญ่จะติดจากการสัมผัสลักษณะใกล้ชิด

ข้อแนะนำล่าสุด ขององค์การอนามัยโลก ให้ประเมินความเสี่ยงจากการรวมกลุ่ม โดยของประเทศไทยคณะกรรมการวิชาการของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติให้มีการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน หากสงสัยมีความเสี่ยงให้พบแพทย์

นายแพทย์โอภาส ย้ำว่า โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ไม่มีความรุนแรง ขณะนี้มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก และสายพันธุ์แอฟริกากลาง สำหรับผู้ป่วยยืนยันที่พบในไทยเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่มีความรุนแรงน้อยกว่า

สำหรับประชาชนโรคนี้ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิด ดังนั้น มาตรการที่ใช้กับการป้องกันโควิด 19 ใช้ได้กับการป้องกันโรคฝีดาษวานร คือ ล้างมือบ่อย ๆ การไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับคนที่มีตุ่มหนอง

คลิปแนะนำอีจัน
รีวิวถนนทางเข้าบ้านแม่ยาย