
จากกรณีที่วานนี้ บก.ปคบ. ได้ออกหมายเรียก 2 สามี-ภรรยา คือ “เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา” และ “มิค บรมวุฒิ หิรัญยัษฐิติ” มาพบในวันที่ 17 มิ.ย. 67 เวลา 10.00 น. เพื่อรับทราบข้อหาฐานความผิด พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เกี่ยวกับการโฆษณาอาหาร มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็น การหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และ มาตรา 41 การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารเพื่อ ประโยชน์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับ อนุญาต กรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ทั้งยัง ถูกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ตรวจพบสารไซบูทรามีนซึ่งเป็นสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วยนั้น
ต่อมา วันนี้ 7 มิ.ย. 67 เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา และ มิค บรมวุฒิ หิรัญยัษฐิติ พร้อมด้วย ทนายเจมส์ นายนิติธร แก้วโต ได้ออกมาแถลงชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทาง อย.นำไปตรวจสอบนั้นเป็นของปลอมที่กระจายขายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งของปลอมจะราคาถูกกว่า เพราะของปลอมใช้สารไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม ทำให้ต้นทุนถูกกว่า แต่ได้ผลใกล้เคียงกัน
สำหรับสาร ไซบูทรามีน ถือเป็นสารที่มีความอันตรายถึงแก่ชีวิตหากมีการบริโภคเข้าไป ทำให้ทาง อย.ยกเลิกการใช้สารดังกล่าวในตำรับยา ซึ่งสาร ไซบูทรามีน นี้ จะมีความอันตราย หรือน่ากลัวแค่ไหน วันนี้ อีจัน จะพาไปทำความรู้จักกับเจ้าสารอันตรายนี้กันให้มากขึ้น
ไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นสารที่ถูกใช้เป็นส่วนผสมในยาลดความอ้วน เนื่องจากมีคุณสมบัติออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการอยากอาหารลดลง อิ่มเร็ว นอกจากนี้ตัวยายังมีส่วนกระตุ้นระบบเผาผลาญส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ ไซบูทรามีน เคยถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคอ้วน ก่อนจะถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดสำหรับผู้ที่อยากผอม ซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียง อาทิ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ตัวยายังทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการที่เลือดจะไปเลี้ยงยังอวัยวะต่าง ๆ ลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

รายละเอียดเกี่ยวกับ ไซบูทรามีน (Sibutramine)
ชื่อการค้า : Reductil
ข้อมูลทั่วไป (1) : สูตรโมเลกุล : C17H26ClN
มวลโมเลกุล : 279.852 g/mol
CAS Number : 106650-56-0
ลักษณะกายภาพ : ของแข็ง (solid)
จุดหลอมเหลว : 191-192 °C
ฤทธิ์เภสัชวิทยา : ยับยั้งการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาทบางประเภท เช่น Serotonin, Norepinephrine ทำให้สารเหล่านี้ทำงานนานขึ้น ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น ทั้งกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายด้วย(2)
ข้อบ่งใช้ : ใช้ควบคุมน้ำหนักร่วมกับโปรแกรมควบคุมน้ำหนักในผู้ที่มีมีดรรชนีมวลกายตั้งแต่ 30 kg/m2 หรือผู้ที่มีมีดรรชนีมวลกายตั้งแต่ 27 kg/m2 แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง และความดัน โลหิตสูงที่ควบคุมได้ โดยแนะนำให้ใช้ในขนาด 10 –15 มิลลิกรัมต่อวัน
อาการไม่พึงประสงค์ : อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามีตั้งแต่ท้องผูก ปากแห้ง นอนไม่หลับคลื่นไส้ หลอดเลือดขยาย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น สับสน อ่อนแรง ปวดหัว โดยอุบัติการณ์การเกิดแตกต่างกันไป แต่ปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจคือ ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือด ***ไซบูทรามีนเป็นยาที่ยกเลิกทะเบียนตำรับไปแล้ว ตั้งแต่ ปี 2553(3) เนื่องจากมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต(4)
การใช้ยาในทางที่ผิด : ลักลอบใส่ไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยส่วนมากพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างลดน้ำหนัก
การควบคุมทางกฎหมาย : ประเทศไทยจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

ความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับ ไซบูทรามีน
- นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม : โทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท – 2 ล้านบาท
- ขาย : มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท – 2 ล้านบาท
- โฆษณาเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต: จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ **ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
- มีไว้ในครอบครอง : จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การเสพยาเสพติด : จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กองควบคุมวัตถุเสพติด,