ครูเผย เหนื่อยหน่อยก็ยอม เพื่อคุณภาพอาหารกลางวันเด็กๆ

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าแลหลา เผยเคล็ดไม่ลับบริหารอาหารกลางวันเด็กๆ ชี้ต้องเสียสละ ใจรักและโปร่งใส ผู้ปกครอง ครู แม่ครัว ต้องเชื่อมโยง

ขณะที่ทุกวันนี้ บ้านเมืองเต็มไปด้วยข่าวฉาวเรื่องอาหารกลางวันของเด็กน้อย พ่อ แม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงชาวเน็ต ต่างก็ถามว่า งบประมาณที่ได้มาไม่พอเหรอ? ทำไมคุณภาพอาหารถึงแย่ขนาดนี้

แต่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าแลหลา ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล กลับทำให้เห็นว่างบประมาณที่ได้มาเท่า ๆ กันกับทุกโรงเรียน สามารถบริหารจัดการ อาหารกลางวันได้ในแบบที่ว่า งบประมาณหัวละ 20 บาทก็ทำได้ แถมมีรางวัลการันตีจากหลายหน่วยงาน จนกลายเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ด้านการบริหารจัดการอาหารกลางวัน และให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนทั่วประเทศ เอาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

วันที่ 4 ก.ย. 62 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่โรงเรียน พบว่าเมนูอาหารกลางวันของวันนี้ เป็น “ข้าวคลุกกะปิ – น้ำซุบ ผลไม้สัปปะรด” โดยทุกเมนูจะต้องมีสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีทั้งผัก ผลไม้ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต


วัตถุดิบส่วนใหญ่จะจัดหาในพื้นที่ เนื่องจากมีความพิเศษติดชายทะเล มีทรัพยากรทางน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีผักที่ชาวบ้านปลูกปลอดสารพิษ

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

นางฝ่าตี่ม๊ะ รายา หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าแลหลา กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ทำอยู่แบบนี้ ในการจัดอาหารกลางวันให้กับเด็ก ๆ หลักสำคัญในการบริหารจัดการ คือ การวางแผนใช้จ่ายอย่างไร เพื่อไม่ให้เกินงบประมาณ ต้องคิดเมนูล่วงหน้าไว้ 1 เดือน เฉลี่ยเมนูยากบ้าง ง่ายบ้าง , ต้องโปร่งใส ไม่ให้เกิดการคอรัปชั่น ด้วยการสร้างไลน์กลุ่มผู้ปกครองและคณะผู้บริหารภายในศูนย์ฯ ให้รับรู้ความเคลื่อนไหวตลอดด้วยการบันทึกภาพถ่ายให้ดูทุกวัน

ภาพจากอีจัน

หัวใจหลัก คือ ต้องร่วมมือกัน เสียสละทั้งคุณครู และแม่บ้านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับเด็ก ๆ ในการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งที่นี่มีความพิเศษ คือ อยู่ใกล้ทะเล ผู้ปกครองก็เป็นชาวประมง อาหารที่ได้จึงสด ใหม่ สะอาด ซื้อบ้าง แถมบ้าง จากคนในชุมชน แถมปลอดสารพิษ เนื่องจากคนในชุมชนปลูกเอง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางจึงสามารถจะซื้อได้ในราคาถูก

ตนยอมรับว่า การมาทำตรงนี้ หนักพอสมควร เพราะหน้าที่ครูก็หนักพออยู่แล้ว ต้องเสียสละจริงๆ เพราะจะต้องแบ่งเวลาจากการเรียนการสอนมาช่วยแม่ครัวอีกแรงหนึ่ง ซึ่งจะต้องแบ่งเวลาและหน้าที่ บางครั้งการจัดแต่งผลไม้ก็เอามาทำ ในช่วงการเรียนการสอนในคาบวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ เด็ก ๆ ก็สามารถที่จะเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย ทั้งในเรื่องของสีสันรูปทรง ขนาด รวมไปถึงเมนูอาหารด้วยที่จะทำให้เด็กไม่เบื่ออาหาร

ภาพจากอีจัน

จากตัวชี้วัดที่พบว่า ก่อนหน้าเด็กจะมาเรียนยังศูนย์แห่งนี้ ไม่ค่อยรับประทานอาหาร แต่หลังจากที่มีการจัดจานอาหารให้สวยงามน่ารับประทาน พบว่าเด็ก ๆ รับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น และเด็กมีพัฒนาการน้ำหนัก ส่วนสูง เป็นไปตามเกณฑ์

พร้อมแชร์ประสบการณ์ให้กับศูนย์เด็กเล็กอื่นๆ ถ้าต้องการจะทำ จะต้องเกิดจากความร่วมมือให้ร่วมมือ เสียสละจริงๆ ในขั้นตอนนี้และเชื่อว่าทุกศูนย์ก็จะทำได้
แม่ครัวก็มีส่วนสำคัญ ที่ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อธุรกิจอะไร ทุกคนต้องการทำอาหารเพื่อให้ลูกให้หลานรับประทานของดีมีคุณภาพจริงๆ คุณครูเองก็ต้องเสียสละจากการเรียนการสอนมาดูแลในส่วนตรงนี้ ซึ่งก็เชื่อมโยงกันอยู่แล้วที่จะต้องดูแลเด็ก ๆ อยู่แล้ว

หลังจากรัฐบาลจัดสรรให้งบ 20 บาท ทำมานานกว่าสี่ปีแล้ว ก็พอที่จะอยู่ได้ไม่ได้เกินอะไร หากบริหารจัดการให้ดี ปรับเปลี่ยนเมนูยากบ้าง ง่ายบ้าง แต่ต้องครบ 5 หมู่

ภาพจากอีจัน

นอกจากนี้ ชุมชนมีส่วนสำคัญมากๆ ที่จะทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ มีวันนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของบุคลากร ซึ่งเป็นครู อาหารที่ออกมาได้ดี เพราะเรามีทรัพยากร มีต้นทุนที่ดี