นพ.ธีระ ชี้ ลองโควิด เสี่ยงโรคเบาหวานทั้งเด็กและผู้ใหญ่

นพ.ธีระ ชี้ ลองโควิด มีความเสี่ยงกลายเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

วันนี้ (3 ส.ค.65) นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat เกี่ยวกับการเป็นกลับซ้ำ (rebound) ในคนติดเชื้อที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส ว่า…

Deo R และคณะ จาก Harvard Medical School ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาเรื่องการเป็นกลับซ้ำ (rebound) ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส (untreated COVID-19 patients) สาระสำคัญคือ พบว่าผู้ที่ติดเชื้อจะมีอัตราการมีไวรัสกลับสูงขึ้น หลังจาก 5 วันราว 12% หรือประมาณ 1 ใน 8 คน

โดยปริมาณไวรัสที่กลับสูงขึ้นนั้น จะอยู่ในระดับสูงเกิน 100,000 ตัวต่อซีซี ราว 5% ในขณะที่มีอัตราการเกิดอาการซ้ำขึ้นมา หลังจากอาการช่วงแรกดีขึ้น ได้ราว 27% หรือสูงถึง 1 ใน 4 โดยพบคนที่มีอาการกลับซ้ำนั้นเกิดขึ้นหลังจากอาการช่วงแรกหายไป มีได้ราว 10%

อย่างไรก็ตาม การเกิดไวรัสกลับมาสูงขึ้นในระดับสูง ร่วมกับมีอาการกลับซ้ำขึ้นมาพร้อมกันนั้น เกิดได้น้อย ราว 2%

ผลการวิจัยนี้ ชี้ให้เราเห็นว่า คนที่ติดเชื้อแม้จะไม่ได้รับยาต้านไวรัส ก็มีโอกาสเกิดการเป็นกลับซ้ำ หรือ rebound ได้เช่นเดียวกันกับที่เราพบจากคนที่ได้ยาต้านไวรัส

ดังนั้น หากติดเชื้อ ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ยาต้านไวรัส การแยกกักตัวในระยะเวลาที่ถูกต้องและนานเพียงพอ (14 วันสำหรับ Omicron หรืออย่างน้อย 10 วัน โดยไม่มีอาการ และตรวจ ATK ได้ผลลบ) จึงมีความสำคัญที่จะทำให้แน่ใจเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อ

เหนืออื่นใด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เวลาดำเนินชีวิตประจำวันนอกบ้าน เป็นหัวใจสำคัญที่จะป้องกันตัวเราและครอบครัวในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะในชีวิตจริง มีโอกาสสูงที่เราจะพบปะกับคนที่ติดเชื้อทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวได้

ตามที่ทราบกันผลการวิจัยทั่วโลก คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเกิดปัญหา Long COVID ตามมาได้ โดยมีโอกาสได้ตั้งแต่ 5-30% โดย Long COVID มาในรูปแบบที่เป็นอาการผิดปกติคงค้างตั้งแต่ช่วงแรกและเรื้อรังต่อเนื่อง หรือจะมาในรูปแบบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ ภายหลังจากที่รักษาการติดเชื้อในช่วงแรกไปแล้วเกิน 4 สัปดาห์

อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เกิดได้แทบทุกระบบของร่างกาย โดยความรู้ปัจจุบันจำแนกกลุ่มอาการที่พบบ่อย ได้แก่ ระบบหัวใจและทางเดินหายใจ ระบบประสาท/อารมณ์/จิตเวช กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับหลายอวัยวะ และระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเกิดปัญหาในระบบอื่นและกลายเป็นโรคเรื้อรังด้วย เช่น เบาหวาน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่

Long COVID เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง และเกิดได้ทุกเพศทุกวัย

งานวิจัยต่างๆ พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงกว่าชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก และคนที่เคยติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงเสี่ยงกว่าคนมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ

ดังนั้น หลังจากที่รักษาการติดเชื้อในระยะแรกเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนจึงควรหมั่นสังเกต ตรวจตราสุขภาพของตัวเองเป็นระยะ หากมีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัย และให้การดูแลรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังจากติดเชื้อ

คลิปแนะนำอีจัน
ความในใจ เจ้าสาวโดนออแกไนซ์เทงานแต่ง