เปิดความเป็นมา วันลอยกระทง กับความเชื่อลอยกระทงวันเพ็ญเดือน 12

เปิดความเป็นมาความเชื่อในวันลอยกระทง ทำไมวันเพ็ญเดือน12 ? ทั้งที่ลอยกันเดือน 11 พร้อมคำอธิษฐานขอขมาคืนวันเพ็ญ

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง…เปิดมาด้วยเพลงที่ชาวไทยคุ้นหูกันกับการใกล้เข้ามาของประเพณีลอยกระทง ความเชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทง เป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนกลายเป็นประเพณีการลอยกระทง อีกทั้งความเชื่อที่หลากหลายบ้างก็เพื่อสำนึกบุญคุณของแม่น้ำ แล้วยังขอขมาพระแม่คงคา เพื่อสะเดาะเคราะห์ปักเป่าสิ่งไม่ดีออกไป แต่รู้หรือไม่ว่าต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทงเกิดขึ้นมาได้อย่างไร วันนี้จันจะพาทุกคนไปรู้จักต้นกำเนิด วันลอยกระทงกันคะ

ประวัติประเพณีลอยกระทง

ประเพณีที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน สำหรับประวัติของประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่ได้มีหลักฐานแน่ชัด เริ่มตั้งแต่เมื่อไร แต่ละตำนานหรือเรื่องเล่า ก็มีจุดเริ่มต้นที่เราไม่รู้แน่ชัดแต่ประเพณีลอยกระทงของไทย มีความเชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยเห็นได้จากหลักฐานศิลาจารึก หลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหง ที่พูดถึงงานเผาเทียนเล่นไฟ ว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย

โดยเรียกว่าพิธีจองเปรียญ หรือ การลอยประทีป ทั้งนี้ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทง

ส่วนกระทงนั้น มีจุดเริ่มต้นจากการที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ที่ได้ประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวโกมุท แทนการลอยโคม จึงสมควรทำเป็นกระทงสักการะพระพุทธเจ้า พระร่วงพอพระราชหฤทัยอย่างมากจึงมีพระราชดำรัสให้กษัตริย์สยามดำเนินพิธีกรรมนี้ ทุกๆ วันเพ็ญเดือน12 สืบต่อไป ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น ของประเพณีลอยกระทง จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 ประเพณีลอยกระทงก็ยังคงสืบทอดต่อกันเรื่อยมา อีกทั้งนิยมประดิษฐ์กระทงที่ใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง เพราะต้องใช้แรงและเงินจำนวนมาก จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า “เรือลอยประทีป”  ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย

ทำไมวันเพ็ญเดือน 12 ? แต่ลอยกระทงเดือน 11 ?

สำหรับการลอยกระทงในปัจจุบันนั้น ก็ยังคงมีการรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ เมื่อถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 12 คนไทยเตรียมตัวไปวัดหรือสถาที่จัดงานลอยกระทง แต่ทำไมถึงเป็นเดือน 12 ทั้งที่ความจริงเราลอยกันในเดือน 11 กล่าวคือ นับตามปฏิทินจันทรคติ (ข้างขึ้นข้างแรม) วันลอยกระทงตรงกับ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปัจจุบัน ส่วนปฏิทินจันทรคติใช้อ้างอิงในวันสำคัญทางศาสนาหรือเทศกาลฉลองพีธีต่าง ๆ แต่ในเป็นแบบ ปฏิทินสุริยจันทรคติ จึงตรงกับเดือน 11 และปีนี้จึงตรงกับวันอังคารที่ 8 พ.ย.65

ทั้งนี้วิถีประเพณีจะมีการเตรียมกระทง ที่ทำจากวัสดุที่หาได้ตาม ธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วย และดอกบัว นํามาประดิษฐ์ออกแบบตามที่ต้องการ ปักธูปเทียน ดอกไม้เครื่องสักการบูชา ตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญลงไป เพราะเชื่อกันว่าจะเป็นการปล่อยเคราะห์ให้ลอยไปกับน้ำ ก่อนจะลอยกระทง ก็จะมีการอธิษฐานกันถึงสิ่งที่หวัง และขมาต่อพระแม่คงคาที่คนไทยเราเชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักษ์ รักษาผืนน้ำเอาไว้ และช่วยชำระล้างและปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกจากชีวิต

นอกจากนี้ การจัดงานวันลอยกระทงในแต่พื้นที่ อาจมีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ และงานรื่นเริงในตอนกลางคืน  บางครั้งก็ยังมีการจุดดอกไม้ไฟ หรือพลุ เพื่อสร้างสีสันในงาน ซึ่งการจัดงานประเพณีลอยกระทงในแต่ละท้องถิ่นของไทย ก็จะความแตกต่างกันออกไปแต่ยังคงความเป็นประเพณีลอยกระทงอยู่

ภาคเหนือ จะเรียกกันว่า ยี่เป็ง จะจัดกันในเดือนยี่เป็งหรือเดือนสอง (นับแบบล้านนา) และจะนิยมทำ”โคมลอย” จากกระดาษบางๆหรือกระดาษว่าว ส่วนมากจะจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ส่วน จ.ตาก ก็มีการลอยกระทงเล็กๆเรียงไปเป็นสาย เรียก “กระทงสาย”  จ.สุโขทัย ก็มีขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง

ภาคอีสาน การลอยกระทงในภาคอีสาน เรียกว่าเทศกาล ไหลเรือไฟ ซึ่งเป็นงานใหญ่ สำหรับ จ.นครพนม ที่จะตกแต่งเรือเป็นรูปพญานาค ประดับไฟ และในตอนกลางคืนก็ปล่อยให้ไหลไปตามลําน้ําโขงดู 

ภาคกลาง และภาคใต้ ก็มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงเช่นกัน โดยส่วนมากจะจัดเหมือนงานวัด หรือจัดใกล้ๆริมแม่น้ำ ทั้งสถานที่จัดงานและแสงไฟที่ประดับประดา และดนตรีที่คอยสร้างบรรยากาศ ทำให้ดูเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ไม้แพ้ภาคอื่นๆเลย

หลากตำนานความเชื่อวันลอยกระทง

  • ถือเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ 

  • การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์

  • เป็นการสักการะรอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย

  • เป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำ

  • ชาวไทยในภาคเหนือมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุต ตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุตทรงสามารถปราบพญามารได้

  • การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา

  • การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า

  • การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก

  • การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุดตเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล

คำอธิษฐานสำหรับลอยกระทง
มะยัง อิมินา ปะทีเปนะ อะสุกายะ นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเน ฐิตัง มุนิโน ปาทะวะลัญชัง อะภิปูเชมะ อะยัง ปะทีเปนะ มุนิโน ปาทะวะลัญชัสสะ ปูชา อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ

ข้าพเจ้าขอบูชา ซึ่งรอยพระพุทธบาท ที่ตั้งอยู่เหนือหาดทรายในแม่น้ำชื่อนัมมทานทีโน้น ด้วยประทีปนี้ กิริยาที่บูชารอยพระพุทธบาทด้วยประทีปนี้ ขอจงเป็นไปเพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

สำหรับใครที่คิดจะเดินทางไปร่วมงานลอยกระทงในสถานที่จัดงานต่างๆ ต้องไม่ลืมระมัดระวังความปลอดภัย เพราะทั้งใกล้น้ำใกล้ไฟ พร้อมปฏิบัติตามมาตรการดูแลความปลอดภัย ไม่จำหน่ายและเล่นพลุ -ดอกไม้ไฟ -โคมลอย รวมถึงรณรงค์ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติเพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังลดปริมาณขยะและช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขอให้วันลอกระทงปีนี้มีแต่ความสุขทุกคนนะคะ

คลิปอีจันแนะนำ
เถียงกันสนั่นห้องฉุกเฉิน ญาติไม่พอใจหมอ