โฆษก ตร. แจงเหตุ เกณฑ์นายสิบจบใหม่ลงหน่วยควบคุมฝูงชน

ไม่ปล่อยดราม่านาน พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. แจงปม มีคำสั่ง เกณฑ์นายสิบจบใหม่ลงหน่วยควบคุมฝูงชน

จากกรณีวานนี้ (5 มิ.ย. 66) ตำรวจนายสิบจบใหม่ ร้องเพจ CSI LA หลังมีคำสั่งการจัดทำบัญชีตำแหน่งเพื่อใช้รองรับการแต่งตั้งเลื่อนชั้นนักเรียนนายสิบตำรวจ ประจำปีงบประมาณ 2564 รุ่นที่2 ข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ซึ่งเอกสารลงวันที่ 18 พ.ค. 2566 ตำรวจนายสิบที่เพิ่งจบใหม่และเพื่อนร่วมชั้นเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ หลังถูกเกณฑ์ไปเป็นตำรวจคุมฝูงชน โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออกเกือบทั้งรุ่น จึงมีการตั้งคำถามถามว่าเหตุใด จึงต้องการ ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) จำนวนมากหลังเลือกตั้ง 4 วัน

ซึ่งในเอกสารได้ระบุแนวทางการบริหารจัดการกำลังพลกองร้อยควบคุมฝูงชน (คฝ.) เมื่อมีสถานการณ์ชุมนุม ให้ใช้กำลังพลกองร้อย คฝ. ก่อน โดยให้บรรจุแต่งตั้ง นสต. ที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีมาดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่กองร้อย คฝ. ทั่วประเทศ 2,576 นา

ทั้งนี้ มีการเผยแช็ตของ นสต. ที่นำเรื่องมาร้องเพจดังกล่าวอีกด้วยว่า เป็นตำรวจรุ่นที่กำลังจะจบเดือนกรกฎาคมนี้ ปกติเมื่อเรียนจบก็จะใช้วิธีเรียงคะแนนและเลือกลงตามโรงพักต่างๆ เพื่อบรรจุตำแหน่งงานสาย ปราบปราม สืบสวน หรืองานจราจร ซึ่งเป็นความฝันตอนที่มาเรียน คาดหวังว่าจะได้จับคนร้ายและดูแลสังคม แต่เมื่อทราบว่าจะถูกเกณฑ์ไปเป็นตำรวจ คฝ. ทุกคนในรุ่น ก็รู้สึกลำบากใจ อีกทั้งตอนสมัครสอบก็ไม่มีเงื่อนไขไหนระบุให้ต้องมาทำงานในตำแหน่ง คฝ. และบอกว่าตอนฝึกงานที่โรงพักก็พบว่ามีปัญหาขาดแคลนตำรวจ ซึ่งในส่วนกำลัง คฝ. หากขาดแคลนจริงๆ ก็น่าจะเรียกกำลังเสริมจากโรงพักได้ และย้ำว่า ในส่วนกำลังพลที่จัดตั้งมาจังหวัดละ 500 คน หากไม่มีสถานการณ์ชุมนุมจะให้ทำอะไร ซึ่งหากให้ลงไปสังกัดโรงพักน่าจะมีประโยชน์กว่า

ไม่ปล่อยให้คาใจนาน ล่าสุดวันนี้ (6 มิ.ย. 66) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแจงปมร้อนนี้ว่า ในห้วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีภารกิจในการดูแลและบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะในหลายพื้นที่ หลายการชุมนุมขนาดใหญ่ จะระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศมาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมมีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจมีระยะเวลาการชุมนุมติดต่อกันยาวนาน อันอาจส่งผลกระทบให้ขาดแคลนกำลังพลในสถานีตำรวจต่างๆ การปฏิบัติหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เจ้าหน้าที่สายตรวจ สืบสวน จราจร หรืองานต่างๆ ในระดับสถานีตำรวจจะขาดกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่

ตร. โดย กองอัตรากำลังพล จึงได้วิเคราะห์ภารกิจและกำหนดนโยบายในการเพิ่มอัตรากำลังที่จะดูแลการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะ โดยพิจารณาจากจำนวนสถิติพื้นที่ที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นจำนวนมาก หรือปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมสูง ระยะเวลาหลายๆ วัน เพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลังในการดูแลการชุมนุมฯ เป็นการเฉพาะ  ไม่ให้กระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในระดับสถานีตำรวจ โดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลังจากสถานีตำรวจให้น้อยที่สุด 

จึงกำหนดเพิ่มอัตรากองร้อยควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และในจังหวัดอื่นๆ โดยกำหนดอัตรา ประจำ กก.สส.บก.สส. ภ.1 , 2 , 7 และ อัตราประจำ กก.ปพ.บก.สส. เสมือนการดำรงตำแหน่งไว้ชั่วคราวเพื่อรอการลงประจำสถานีตำรวจ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่มีภารกิจการชุมนุมฯ ตร. ได้กำหนดแนวทางให้ ผบช. หรือ ผบก. ต้นสังกัด สามารถบริหารจัดการให้กำลังดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถานีตำรวจได้ตามแต่ห้วงเวลา หรือให้สนับสนุนภารกิจการจัดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ เช่น การรักษาความปลอดภัยในการจัดงานขนาดใหญ่ หรือการจัดชุดออกตรวจตราเสริมในพื้นที่อาชญากรรมสูง เป็นต้น

ทั้งนี้ การนำนักเรียนนายสิบตำรวจ (นสต.) ที่จบการศึกษาใหม่ มาลงตำแหน่งกองร้อย คฝ. จะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านงานป้องกันปราบปราม ยุทธวิธีตำรวจ การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือพิเศษต่างๆ เตรียมความรู้ด้านข้อกฎหมาย การตรวจค้น การจับกุม การติดต่อสื่อสารและการทำงานเป็นทีมเพิ่มเติม และเพิ่มทักษะความเข้าใจ อดทนต่อสถานการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่งานป้องกันปราบปราม จราจร สืบสวน สอบสวน ในสถานีตำรวจ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบตามวาระประจำปี ก็จะแต่งตั้งหมุนเวียนไปสถานีตำรวจเป็นวงรอบ สับเปลี่ยนกำลังพลไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจ หรือสามารถพัฒนาเป็น ครูฝึกยุทธวิธีตำรวจต้นแบบให้กับสถานีตำรวจ หรือ นสต. รุ่นอื่นๆ ต่อไป