ห้ามซื้อเด็ดขาด! 11 สินค้าเถื่อน ‘อย.’ โวย อวดสรรพคุณเกินจริง

‘อย.’ เปิดชื่อ 11 สินค้าเถื่อนอวดสรรพคุณเกินจริง หลังร่วมกับตำรวจสอบสวนกลาง ทลายเครือข่ายทุนเวียดนาม ยึดของกลาง 23 รายการ กว่า 43,411 ชิ้น มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง  ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการดำเนินการปราบปรามเครือข่ายชาวเวียดนามที่ทำการโฆษณาขายนมพร้อมอ้างสรรพคุณเกินจริง ผลการปฏิบัติงานพบการยึดของกลางจำนวน 23 รายการ รวมทั้งสิ้น 43,411 ชิ้น มีมูลค่ารวมกว่า 40 ล้านบาท

พฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากความนิยมในผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภค นำไปสู่ปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอมหรือคุณภาพต่ำในไทย เพิ่มสูงขึ้น กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับผู้บริโภค จึงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังการขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในรูปแบบเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีการใช้ชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลเสียต่อสุขภาพและไม่สามารถขอคืนเงินได้

นอกจากนี้ ยังมีการรับเรื่องร้องเรียนจากคณะกรรมการอาหารและยาเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่ใช้ภาพและวิดีโอตัดต่อ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างกว้างขวาง และมีเนื้อหาอ้างสรรพคุณที่เป็นเท็จ จำนวน 4 เว็บไซต์ ได้แก่

  • https://www.ovisureth.site/

  • https://www.ovisureofficial.com/

  • https://www.youtube.com/channel/UC9d1lEKxZ1y2SKC18z2Kd6w

  • https://suachoxuongkhop.info/

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ทำการตรวจสอบเว็บไซต์ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์นมผงยี่ห้อ Ovisure Gold และพบว่า มีการโฆษณาโดยอ้างสรรพคุณของนมผงอย่างเกินจริง อาทิเช่น ช่วยปกป้องระบบหัวใจและหลอดเลือด, ป้องกันโรคเบาหวาน, เสริมสร้างสติปัญญา, บรรเทาอาการปวดข้อ ปวดไหล่ และอาการเหน็บชา, ป้องกันความเสื่อมและโรคกระดูกพรุน, ฟื้นฟูข้อต่อและกระดูกอ่อน, ลดอาการปวดกระดูกและข้อให้หายภายใน 3 วัน โดยมีการอ้างว่า ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการรับรองจาก FDA สหรัฐอเมริกาและนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา

ผลิตภัณฑ์นมผง Ovisure Gold เคยถูกนำขึ้นเป็นข่าวในสื่อออนไลน์ว่า มีการใช้คลิปวิดีโอและภาพถ่ายของบุคคลที่มีชื่อเสียงมาตัดต่อและโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังได้ตรวจสอบและพบว่า มีการโฆษณาคุณประโยชน์และคุณภาพของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงข้อมูลที่เป็นเท็จหรือหลอกลวง ซึ่งหากผู้ป่วยเชื่อและซื้อผลิตภัณฑ์นี้มารับประทานเพื่อหวังว่าจะช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ ปวดไหล่ อาการเหน็บชา และโรคกระดูกพรุน ก็จะเสียเงินและเสียโอกาสในการรักษาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการ 4 ของบก.ปคบ. ได้ทำการสืบสวนและค้นพบแหล่งจัดเก็บและกระจายผลิตภัณฑ์ที่มีความผิดกฎหมาย จึงรวบรวมหลักฐานเพื่อขอหมายค้น และร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าทำการตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ที่จ.ชลบุรี โดยมีจุดตรวจค้น 2 จุดดังนี้:

ที่อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ในหมู่บ้านที่ 6 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ทางเจ้าหน้าที่ได้ยึดผลิตภัณฑ์อาหารจำนวน 8 รายการ ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ 3 รายการ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ 1 รายการ พร้อมทั้งจับกุมผู้ต้องหาชาวเวียดนาม 2 ราย

ที่บ้านพักชั้นเดียว ในหมู่บ้านที่ 1 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ทางเจ้าหน้าที่ได้ยึดผลิตภัณฑ์อาหารจำนวน 8 รายการ เครื่องมือแพทย์ 1 รายการ ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ 1 รายการ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ 1 รายการ และจับกุมผู้ต้องหาชาวเวียดนามอีก 6 ราย

จากการตรวจค้นทั้ง 2 จุด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดผลิตภัณฑ์อาหารทั้งสิ้นกว่า 37,911 ชิ้น ประกอบด้วย นมผงยี่ห้อต่างๆ จำนวน 36,471 กระปุก ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจำนวน 4,120 ชิ้น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับจำนวน 1,080 ชิ้น และเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดยี่ห้อ SINOCARE จำนวน 300 ชิ้น รวมทั้งหมด 43,411 ชิ้น มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารนมผงที่ถูกยึดมีทั้งสิ้น 11 ยี่ห้อ (เช็กชื่อผลิต 11 ผลิตภัณฑ์เถื่อน ที่นี่) ดังนี้:

  • OVISURE GOLD: อ้างว่าช่วยลดอาการปวดข้อ ป้องกันโรคเข่าเสื่อม ต่อสู้กับโรคกระดูกพรุน และเห็นผลลัพธ์ชัดเจนภายใน 7 วัน

  • Digo sure: อ้างว่าเหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ ปวดไหล่ เหน็บชา และเสริมสร้างกระดูกอ่อนและข้อต่อ

  • Zextra Sure: อ้างว่ามีประโยชน์ในการรักษากระดูกสันหลังเสื่อม โรคข้อเสื่อม และบรรเทาอาการอัมพาตครึ่งซีก

  • Via Sure Canxi: อ้างว่าช่วยลดอาการปวดข้อและกระดูก และสร้างกระดูกอ่อนใหม่

  • Hevisure gold: อ้างว่าช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น ตาบอด ไตวาย ฯลฯ

  • GluOats: อ้างว่าช่วยลดและรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ป้องกันหัวใจล้มเหลว ไตวาย ติดเชื้อในตับ

  • Gluzextra Gold: อ้างว่ารักษาโรคเบาหวาน ควบคุมน้ำตาลในเลือด และลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคอันตรายต่างๆ

  • HIUP COMPLETE: อ้างว่าสามารถช่วยเพิ่มความสูงได้ 3-5 ซม. ภายในระยะเวลา 3 เดือน และมีสรรพคุณที่เหนือกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั่วไปถึง 10 เท่า

  • Sica sure canxi wemee: อ้างว่าช่วยเพิ่มความสูงได้ 3-5 ซม. ภายในระยะเวลา 3 เดือน พร้อมกับมีสรรพคุณที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปถึง 10 เท่า

  • Pro up: อ้างว่าช่วยเพิ่มภูมิต้านทานและภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยให้นอนหลับได้ลึกขึ้น และสามารถเพิ่มน้ำหนักได้ถึง 10 กิโลกรัมภายในระยะเวลา 1 เดือน

  • Hevifood Body fit: อ้างว่าสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ 3-4 กิโลกรัมภายในเวลา 2 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องอดอาหาร

จากการสืบสวนขยายผลทราบว่า กลุ่มผู้กระทำผิดมีนายทุนชาวเวียดนาม ทำการการเปิดโฆษณาจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จดทะเบียนอยู่ต่างประเทศ โดยลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์มาจากประเทศเวียดนาม และนำสินค้ามาเก็บไว้ตามอาคารให้เช่าต่างๆ เพื่อรอการจำหน่าย เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้า แอดมินเพจจะส่งข้อมูลการสั่งซื้อให้กลุ่มผู้ต้องหาชาวเวียดนามทำการบรรจุ และส่งให้กับลูกค้าในประเทศไทย

จากการตรวจสอบสถานะทางด้านการเงินของกลุ่มเครือข่ายดังกล่าว พบว่า มีการเปิดบัญชีสำหรับรับโอนเงินค่าสินค้า ตั้งแต่ เดือนส.ค.66 – ปัจจุบัน รวมระยะเวลา 3 เดือน มีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 175 ล้านบาท

เบื้องต้นการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน

1.พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6 (10) ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

2.พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72 (4) ฐาน “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 

– ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

– ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบรับจดแจ้ง” ระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6. พ.ร. บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

7. พ.ร.ก.การบริหารจัดการทำงานของบุคคลต่างด้าว พ.ศ. 2560 ฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน” ระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท 

8. กรณีการนำเข้าข้อมูลเท็จและโฆษณาสินค้าดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

คลิปอีจันแนะนำ
แก่แล้ว ทำไม? แม่โสภิต 61 ปี ชีวิตที่เหลืออยู่ ขอมีความสุข