ทักษิณ ได้นอน รพ.ตำรวจ ต่อ หลังครบ 60 วัน ตามความเห็นของแพทย์

กรมราชทัณฑ์ ไฟเขียว! ทักษิณ ได้นอน รพ.ตำรวจ ต่อ หลังครบ 60 วัน ตามความเห็นของแพทย์

กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาเด็ดขาดในคดีทุจริต 3 คดีที่อยู่ในการควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 66 และได้ออกจากเรือนจำในคืนแรกไปพักรักษาที่ รพ.ตำรวจ จนจะครบกำหนด 60 วันในวันพรุ่งนี้ (22 ต.ค. 66)

21 ต.ค. 66 กรมราชทัณฑ์ แจ้งว่า ทางกรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้ นายทักษิณ ชินวัตร รักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ครบ 60 วัน ในวันที่ 21 ต.ค. 66 ซึ่งความเห็นจากแพทย์ รพ.ตำรวจ ผู้ทำการรักษา เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ ณ รพ.ตำรวจ

ส่วนรายละเอียดของการเจ็บป่วยนั้น เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย

ทั้งนี้ รายละเอียดตามกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ระบุว่า

– การพักรักษาตัวเกินกว่า 30 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง

– การพักรักษาตัวเกินกว่า 60 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ

– การพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ

ดังนั้น ในกรณีนายทักษิณ ที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกเกินกว่า 60 วัน ขณะนี้อธิบดีได้มีหนังสือเห็นชอบ พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง รายงานให้ปลัดกระทรวงทราบตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ขณะที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณี ดังกล่าวว่า สำหรับเรื่องการพิจารณาดังกล่าวนั้น จะเป็นในส่วนของทางกรมราชทัณฑ์ที่จะเป็นผู้พิจารณา พอครบ 60 วันคำวินิจฉัยของแพทย์ จะถูกรายงานไปที่กรมราชทัณฑ์ แล้วก็จะเป็นการพิจารณาของกรมราชทัณฑ์ว่า ถ้ามีความเห็นว่า คนไข้พร้อมที่จะต้องกลับ กรมราชทัณฑ์ก็จะเป็นคนพิจารณา ไม่ใช่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ

เนื่องจากทางตำรวจจะดูแลในเรื่องของความปลอดภัยให้กับหน่วยงานที่ขอความร่วมมือมา

ส่วนเรื่องของการพิจารณาว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ ไม่ได้อยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่อยู่ที่กรมราชทัณฑ์