รู้จัก ดอกบัวผุด หรือ บัวตูม

สวย! บัวผุดดอกแรกบานแล้ว ที่อุทยานแห่งชาติเขาสก ดอกบัวผุด หรือที่คนใต้มักเรียกกันว่า บัวตูม พบในป่าดิบตั้งแต่แหลมมลายูลงไป ไทยพบที่อุทยานแห่งชาติเขาสก

วันนี้ (3 พ.ย.65) เพจเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติเขาสก – Khao Sok National Park จ.สุราษฎร์ธานี โพสต์ภาพ ดอกบัวผุดบาน พร้อมข้อความ แถมยังบานใกล้ๆ กัน 3 ดอกโตๆ เส้นทางก็เปิดแล้ว ดอกบัวผุดก็บานแล้ว โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ขึ้นไปสำรวจดอกบัวผุด พบดอกตูมๆ มากกว่า 50 ดอก ของหาดูยากแบบนี้ นานๆจะมีที อย่ารอช้าต้องมาแล้วไหมมม

กรุณาซื้อบัตรค่าบริการและลงทะเบียนบริเวณด่านเก็บเงินที่ทำการหน้าอุทยานฯ ก่อนเข้าในพื้นที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติชมดอกบัวผุด และเมื่อเข้ามาชมสิ่งที่ควรระวัง คือ

-ไม่ควรเหยียบย่ำเถาของย่านไก่ต้ม ซึ่งเป็นพืชที่ดอกบัวผุดเกาะเป็นกาฝาก

-ไม่ควรออกนอกเส้นทางที่เจ้าหน้าที่จัดทำให้

-ควรมีไกด์นำทาง เพื่อป้องกันการพลัดหลง ซึ่งสามารถติดต่อไกด์ท้องถิ่นบริเวณรอบๆ อุทยานฯ

สำหรับการเดินไปชมเป็นเส้นทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร และค่อนข้างชัน ต้องเดินช้าๆชิวๆ เตรียมร่างกายและอุปกรณ์ให้พร้อม

รู้จักดอกบัวผุด

ดอกบัวผุด หรือที่คนใต้มักเรียกกันว่า บัวตูม มีชื่อสามัญว่า Sapria Himalayana และชื่อวิทยาศาสตร์คือ Sapria himalayana Griff. พบในป่าดิบตั้งแต่แหลมมลายูลงไป และในไทยพบที่อุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดอกบัวผุดเป็นพืชกาฝากที่อาศัยน้ำเลี้ยงจากรากของเถาวัลย์น้ำอย่าง เครือเขาน้ำหรือส้มกุ้ง ไม่มีลำต้น ไม่มีใบ มีเพียงดอกสีแดงประแต้มเหลืองใหญ่ราว 10 เซนติเมตร โผล่ขึ้นมาจากดินเท่านั้น เป็นดอกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีกลิ่นที่เหม็นมาก ลักษณะคล้ายกับหม้อขนาดใหญ่มีกลีบหนา มีเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 50 – 100 เซนติเมตร ภายในดอกจะมีแผ่นแบนคล้ายจาน ส่วนด้านบนมีปุ่มคล้ายหนามแหลมจานนี้จะซ้อนเกสรตัวผู้กับรังไข่ไว้ด้านล่าง ที่โคนของดอกมีกลีบนำสีน้ำตาลอมเหลืองเรียงสลับซับซ้อนกันอยู่มาก เมื่อดอกยังสดอยู่ดอกบัวผุดจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลกรัม กลีบดอกมีความหนาตั้งแต่ 0.5-1 เซนติเมตร ใช้เวลาในการเติบโตนานกว่า 9 เดือน และดอกบัวผุดจะบานอยู่ได้แค่ 4-5 วัน จากนั้นจะค่อย ๆ ดำเน่าไป

ส่วนบัวผุดที่พบในประเทศไทยได้รับการตั้งชื่อเป็นสปีชีส์ของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดย Dr.W.Meijer จากมหาวิทยาลัยเคนตักกี สหรัฐอเมริกา ได้ตั้งชื่อพฤกษศาสตร์สากลเพื่อเป็นเกียรติแก่นายแพทย์ชาวไอริส Dr.A.F.G.Kerr ผู้สำรวจพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2472 ซึ่งจากผลการสำรวจและวิจัยของฝ่ายพฤกษศาสตร์ กองบำรุง กรมป่าไม้ พบว่า บัวผุดพันธุ์ใหม่ที่พบในประเทศไทย เป็นพืชกาฝากที่เกาะกินเฉพาะน้ำเลี้ยงจากรากของไม้เถาของว่านป่าที่มีชื่อว่าย่านไก่ต้ม (Tetrastigma papillosum Planch) เพียงชนิดเดียวเท่านั้น ทำให้หลาย ๆ คน เข้าใจผิดว่าเป็นดอกของย่านไก่ต้ม แต่ความจริงแล้วเถาย่านไก่ต้มเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์องุ่น (Vitidaceae) ที่มีเถาขนาดใหญ่ พบในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ที่มีฝนตกอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี พื้นดินเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายตามหุบเขาหรือบริเวณริมลำธาร ซึ่งดอกย่านไก่ต้มจะมีสีเขียวอมเหลืองขนาดโตประมาณ 2 เท่าของหัวไม้ขีดไฟ และจากการศึกษาพบว่า พันธุ์ไม้ตระกูลบัวผุด (Raffiesia) มีประมาณ 13-14 พันธุ์

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก https://www.guilinlake.com/article/%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%9C%E0%B8%B8%E0%B8%94/

คลิปอีจันแนะนำ
ทำการบ้านรอพ่อ หน้าเมรุ!