ตำรวจ CIB จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลงทุนหุ้นทองคำ – ทำบัญชีม้าเกลื่อน

หนีไม่รอด ตำรวจสอบสวนกลาง จับแบบถอนรากถอน โคน แก๊งโจรคอลเซ็นเตอร์ หลอกลงทุนหุ้นทองคำ พบเงินสะพัดกว่า 3,000 ล้านบาท

CIB เผยข้อมูล รวบหัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์พร้อมพวกอีก 10 ราย  หลอกลงทุนหุ้นทองคำ หลอกเปิดบัญชีม้า เงินสะพัด 

วันนี้ (22 มิ.ย. 66) ตำรวจสอบสวนกลาง หรือ CIB เปิดเผยว่า ตำรวจ ได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการ ซึ่งในวันที่ 13 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา ตำรวจได้นำกำลังเข้าจับกุม กลุ่มผู้จัดหาและรวบรวมบัญชีม้า และกระเป๋าวอลเล็ตม้า จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 8 ราย และวันที่ 20 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา ได้จับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มอีก 3 ราย รวมทั้งหมด 11 ราย

โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ร่วมกัน จับกุมผู้ต้องหา เครือข่ายหลอกลงทุนและคอลเซนเตอร์ ที่ควบคุมสั่งการศูนย์ปฏิบัติการ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ของประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่หัวหน้าแก๊งไปจนถึงคนรวบรวมบัญชีม้าและคนรับจ้างเปิดบัญชีม้า รวม 15 หมายจับ และสามารถจับกุมผู้ต้องได้หาทั้งหมด 11 ราย

เปิด 11 รายชื่อ ผู้ต้องหา เครือข่ายหลอกลงทุนและคอลเซนเตอร์

1. MR. TENG JUN (เถิง จวิ้น) สัญชาติจีน (เป็นหัวหน้าเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์) โดยจับกุมที่ บ้านพัก ในพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.66

2. น.ส.หงษ์ อายุ 25 ปี บุคคลไร้สัญชาติ (เป็นคนที่ทำหน้าที่ฟอกเงิน โดยการขายเหรียญคริปโตและนำเงินสดไปส่งมอบให้หัวหน้าเครือข่าย) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1852/2566 ลง 16 มิ.ย.66 จับกุมที่บ้านพักในพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.66

3. นายนพดล อายุ 32 ปี (เป็นคนที่ทำหน้าที่รวบรวมบัญชีม้าจากฝั่งไทย ไปส่งมอบให้กับชาวจีนที่ควบคุมดูแลแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ สปป.ลาว) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1853/2566 ลง 16 มิ.ย.66 จับกุมที่บ้านพักในพื้นที่ ซ.พัฒนานิเวศน์ 12 ถ.สุขุมวิท 71 เขตพระโขนงเหนือ แขวงวัฒนา กทม. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.66

4. นายปิยะพงษ์ อายุ 36 ปี (เป็นคนที่ทำหน้าที่รวบรวมบัญชีม้าจากฝั่งไทย ไปส่งมอบให้กับชาวจีนที่ควบคุมดูแลแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ สปป.ลาว) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1739/2566 ลง 7 มิ.ย.66 จับกุมได้ที่ ม.4 ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อ 13 มิ.ย.66

5. นายณัฐวุฒิ อายุ 33 ปี (บัญชีม้า, กระเป๋าวอลเล็ตม้า) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1735/2566 ลง 7 มิ.ย.66 จับกุมได้ที่ ม.6 ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เมื่อ 13 มิ.ย.66

6. นายนัทธพงศ์ อายุ 30 ปี (บัญชีม้า, กระเป๋าวอลเล็ตม้า) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1733/2566 ลง 7 มิ.ย.66 จับกุมได้ที่ ใกล้ปากซอยบ้านดู่ ม.3 ซ.4 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อ 13 มิ.ย.66

7. น.ส.กาญจนา อายุ 35 ปี (บัญชีม้า, กระเป๋าวอลเล็ตม้า) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลศาลอาญา ที่ 1736/2566 ลง 7 มิ.ย.66 จับกุมได้ที่ ม.1 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เมื่อ 13 มิ.ย.66

8. นายนพพร อายุ 37 ปี (บัญชีม้า, กระเป๋าวอลเล็ตม้า) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1731/2566 ลง 7 มิ.ย.66 จับกุมได้ที่ ม.4 ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อ 13 มิ.ย.66

9. นางอังศุมาลินฯ อายุ 30 ปี (บัญชีม้า, กระเป๋าวอลเล็ตม้า) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1734/2566 ลงวันที่ 7 มิ.ย.66 จับกุมได้ที่ ม.11 ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อ 13 มิ.ย.66

10. นายเอฯ (นามสมมติ) อายุ 33 ปี (พ่อค้าเหรียญคริปโต) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1738/2566 ลง 7 มิ.ย.66 จับกุมได้ที่ ม.1 บ้านกลางเวียง ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เมื่อ 13 มิ.ย.66

11. นายบีฯ (นามสมมติ) อายุ 33 ปี (พ่อค้าเหรียญคริปโต) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1740/2566 ลง 7 มิ.ย.66 จับกุมได้ที่ หมู่ 10 ต.มะขาม อ.มะขาม จ.จันทบุรี เมื่อ 13 มิ.ย.66

อยู่ระหว่างสืบสวนติดตามจับกุมตามหมายจับเพิ่มเติม อีก 5 ราย

1. MR.QIU DEWU (ชิว เตอร์อู่) สัญชาติจีน (กลุ่มบริหาร เปิดบริษัทในประเทศไทย ทำหน้าที่ฟอกเงิน)

2. MR.QIU DECONG (ชิว เตอร์ชง) สัญชาติจีน (กลุ่มบริหาร ทำหน้าที่ฟอกเงิน)

3. MR.ZHANG ZHIHONG (จาง จื่อหงส์) สัญชาติจีน (กลุ่มบริหาร หน้าที่รวบรวมบัญชีม้า, กระเป๋าวอลเล็ตม้า)

4. นายอาเคอ อายุ 39 ปี สัญชาติไทย (บัญชีม้า, กระเป๋าวอลเล็ตม้า)

5. นายจตุพร อายุ 37 ปี สัญชาติไทย (บัญชีม้า, กระเป๋าวอลเล็ตม้า)

ซึ่งทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน

โดยพฤติการของแก๊งนี้ คือ นำชื่อสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปแอบอ้างด้วยการเปิดเว็บไซต์หลอกลวงประชาชนให้นำเงินมาลงทุนในหุ้นทองคำ โดยใช้ชื่อเว็บไซต์ว่า Royal Gold ซึ่งเว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา มีลักษณะคล้ายเว็บไซต์เทรดหุ้น มีกราฟแสดงมูลค่าของหุ้นตลอดเวลา

เมื่อตรวจสอบพบว่า มีผู้เสียหายกว่า 2,000 คน หลงเชื่อและนำเงินไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. 66 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท

ในช่วงแรก กลุ่มมิจฉาชีพกลุ่มนี้ จะชักชวนให้ผู้เสียหายนำเงินมาทดลองลงทุน โดยจะให้ผู้เสียหายโอนเงินลงทุนไปยังบัญชีม้าที่เปิดเตรียมไว้ เมื่อลงทุนไประยะหนึ่ง มิจฉาชีพจะคืนเงินต้นพร้อมให้ผลตอบแทนในการลงทุน ซึ่งคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นของเงินต้น เมื่อผู้เสียหายตายใจ และเชื่อใจว่าได้เงินจริง ก็จะนำเงินมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อผู้เสียหายต้องการถอนเงินออกมา มิจฉาชีพจะเพิ่มกลอุบาย โดยให้ผู้เสียหายเสียภาษีก่อน เมื่อผู้เสียหายโอนเงินภาษีปลอมนั้นให้แล้ว มิจฉาชีพก็จะกดบล็อกทันที ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อกับมิจฉาชีพได้อีก

เมื่อตำรวจสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า เมื่อผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปยังบัญชีม้า เงินจะถูกนำไปซื้อเหรียญดิจิทัล ในสกุล USDT ก่อนจะโอนเงินเข้าไปยังกระเป๋าวอลเล็ตม้า ก่อนจะเริ่มการฟอกเงิน โดยการโยกย้าย เหรียญดิจิทัล เข้าไปในกระเป๋าในเครือข่าย มากกว่า 100 กระเป๋า ก่อนจะโอนเข้าไปที่ กระเป๋าเงินดิจิทัลของกลุ่มผู้บริหารเครือข่ายชาวจีนที่รับหน้าที่ฟอกเงินโดยการนำเหรียญดิจิทัลที่ได้ ไปขายแลกกลับมาเป็น สกุลเงินบาท ก่อนจะนำเงินที่ได้มาไปส่งมอบให้กับหัวหน้าเครือข่าย

ตำรวจสอบสวนกลาง ยังเปิดเผยต่อว่า จากการตรวจสอบ พบกลุ่มที่รับจ้างเปิดบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินประมาณ 3,000 – 4,000 บาท ซึ่งผู้ว่าจ้างคนกลุ่มนี้ จะเตรียมโทรศัพท์และซิมการ์ด มาให้เพื่อเปิดบัญชีธนาคารพร้อมกระเป๋าแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล ก่อนจะนำไปปฏิบัติการต่อที่ สปป.ลาว 

ในส่วนของผู้ต้องหา ที่ทำหน้าที่จัดหาและรวบรวมบัญชีม้า ให้กับขบวนการนี้ ยอมรับว่าตนได้รับว่าจ้างจากนายทุนชาวจีน ให้รวบรวมบัญชีม้า และกระเป๋าวอลเล็ตม้าของคนไทย ส่งให้กับ ชาวจีนที่อยู่ในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 10,000 บาทต่อบัญชี 

ทั้งนี้ ตำรวจได้เข้าตรวจค้น และยึดทรัพสินหลายรายการ อาทิ รถยนต์หรู สร้อยคอทองคำ เงินสด นาฬิกาหรู กระเป๋าแบรนด์เนม ใบรับประกันทองคำ และอื่นๆ อีก นอกจากนี้ยังได้ตรวจยึดคอมพิวเตอร์ จนพบว่า มีกลุ่ม Telegram ซึ่งเป็นกลุ่ม Scammer ที่จะจัดส่งภาพถ่าย ทั้งรูปหวิวของหญิงสาว ภาพอาหารราคาแพง และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เพื่อใช้ในการหลอกลวง

เมื่อตำรวจเค้นถาม มีหนึ่งในผู้ต้องหายอมรับว่า ใบรับประกันทองที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดมา เป็นการซื้อทองคำ เพื่อนำไปมอบเป็นรางวัลโบนัสให้กับพนักงานที่สามารถหลอกลวงเหยื่อให้เข้ามาลงทุนในเว็บไซต์ด้วย