เปิดประวัติ สืบ นาคะเสถียร ตำนาน บุรุษแห่งห้วยขาแข้ง

เปิดประวัติ สืบ นาคะเสถียร วีรบุรุษ ของผืนป่าห้วยขาแข้ง ยอมทิ้งชีวิต ปลิดชีพตัวเอง เพื่อรักษาผืนป่าไว้! หวนย้อนรำลึก 32 ปี บุคคลที่รักป่าไม้ยิ่งชีพ

วันนี้(1 ก.ย. 65) เป็นวันครบรอบการจากไป ครบ 32 ปี ของสืบ นาคะเสถียร บุคคลที่รักป่าไม้ รักทรัพยากร ช่วยรักษาสัตว์ป่า ยิ่งกว่าชีวิตของตัวเอง และเมื่อวานนี้ เพจเฟซบุ๊ค มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์ข้อความ พร้อมกับรูปภาพว่า

“ย้อนกลับไปเมื่อ 32 ปีก่อน ก่อนรุ่งฟ้าสางในวันที่ 1 กันยายน 2533 ท่ามกลางความเงียบสงัด กลับมีเสียงปืนดังลั่นสนั่นป่า ณ เขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง ด้วยความที่ทุกคนเคยชินกับเสียงปืน เลยไม่มีผู้ใดข้องใจกับเสียงปืนในคืนนั้น และคืนนั้นเองเป็นคืนสุดท้ายของชายผู้เป็นวีรบุรุษ เขาทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผืนป่า จนถึงกับยอมปลิดชีวิตตนเอง เพื่อปลุกจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของพวกเรา และสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบข้าราชการไทย

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อ สืบ นาคะเสถียร กลายเป็นที่รู้จัก และทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หันมาตระหนักถึงมาตรการในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และได้เปลี่ยนแปลงวงการอนุรักษ์ไปตลอดกาล จากวันนั้น จนถึงวันนี้ ผ่านมา 32 ปี ชื่อ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ก็มิอาจเลือนลางหายไปจากใจของพวกเราได้

วันนี้แอดมินจะพาทุกท่านย้อนรอยเส้นทางของชายผู้เป็นตำนานแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง ‘สืบ นาคะเสถียร’

#สืบนาคะเสถียร

2492 สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี สืบเป็นบุตรของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีน และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องรวมทั้งหมดสามคน

2502 สืบ นาคะเสถียร มีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบประถม 4 สืบ นาคะเสถียร ได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน

2510-2514 สืบ นาคะเสถียร อยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชอบด้านศิลปะ แต่มาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 35

2516-2517 เมื่อสำเร็จการศึกษา สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์

#จุดเริ่มต้นการทำงานของสืบนาคะเสถียร

2518 สืบ นาคะเสถียร สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี

2522 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทยา

2524 สืบ นาคะเสถียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

2528 สืบ นาคะเสถียร เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่ สืบ นาคะเสถียร เป็นอย่างมาก

2529 สืบ นาคะเสถียร รับเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่ สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบ นาคะเสถียร ได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

#สืบนาคะเสถียรกับบทบาทการเป็นนักอนุรักษ์

2530 สืบ นาคะเสถียร ได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบ นาคะเสถียร ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบ นาคะเสถียร เริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า ‘ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า…’

2531 สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ได้อภิปรายว่า ‘คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน’

2532 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

สืบ นาคะเสถียร พบปัญหาต่าง ๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย

สืบ นาคะเสถียร จึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็น ‘มรดกโลก’ อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

#ชีวิตหลังความตาย

1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร สะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

18 กันยายน 2533 ผู้ใหญ่และพ้องเพื่อนนักอนุรักษ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ สืบ นาคะเสถียร

26 เมษายน 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร

และในวันนี้ 31 สิงหาคม 2565 ครบรอบการจากไป 32 ปี ของสืบ นาคะเสถียร ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขอเชิญผู้สนใจร่วมกิจกรรมรำลึก 32 ปี ของสืบ นาคะเสถียร ณ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง”

วันครบรอบการจากไป ครบ 3 ปี ของสืบ นาคะเสถียร วีรบุรุษที่อุทิศชีวิต และจิตวิญญาณ เพื่อรักษาผืนป่า และสัตว์ป่า เอาไว้ หวังจะเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต แม้ว่าร่างกายจะหายไป แต่จิตวิญญาณของเขา ยังถูกระลึกถึงอยู่เสมอเมื่อได้เห็นผืนป่าห้วยขาแข้ง

คลิปอีจันแนะนำ
ลืม จน ตาย ลืมนักเรียนไว้บนรถ