เปิดท็อป 5 แอปพลิเคชัน ที่คนอยากลบทิ้งมากที่สุด

ทั่วโลกแห่เลิกเล่นโซเชียลมีเดีย เปิดท็อป 5 แอปพลิเคชัน ที่คนอยากลบทิ้งมากที่สุด

โซเชียลมีเดีย กลายเป็นสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ภายในไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะช่วงโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาใช้โซเชียลกันมากขึ้น แต่ปัจจุบันผลสำรวจ Go.Verizon Social Privacy Survey Report 2022 พบว่า คนเริ่มอยากเลิกเล่นโซเชียลมีเดีย และลบแอปพลิเคชันเหล่านี้ออกไปจากสมาร์ทโฟน เพราะเหตุผลต่างๆ เช่น แอปพลิเคชันโซเชียลได้เก็บข้อมูลส่วนตัว, มีการหลอกลวงผ่านโซเชียล และปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ, เพศ ที่เกิดขึ้นได้ง่ายในโลกโซเชียล

จากการวิเคราะห์แนวโน้มการค้นหาจากเว็บไซต์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ VPNOverview ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผู้คนกำลังค้นหาวิธีลบแอปพลิเคชัน Instagram, Facebook และ Snapchat ออกจากเครื่อง

ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ นักร้องชื่อดังระดับโลกอย่าง จองกุก หรือจอน จองกุก มักเน่ของวง BTS ที่ตัดสินใจลบบัญชี Instagram ที่มีผู้ติดตามถึง 50 ล้านคน เมื่อปลายเดือน ก.พ.66 ที่ผ่านมา เพราะไม่ค่อยได้เล่น ทำเอาอาร์มี่ทั่วโลก (แฟนคลับ BTS) แตกตื่น เพราะคิดว่าถูกแฮก

เช่นเดียวกับ นักร้องสาวบิลลี ไอลิช ที่เผยว่า ไม่ได้ดูโซเชียลมีเดียอีกต่อไปแล้ว และได้ลบแพลตฟอร์มทั้งหมดออกจากมือถือ

ขณะที่ รายงานวิเคราะห์ปริมาณการค้นหาสำหรับคำที่เกี่ยวข้องกับการลบหรือปิดใช้งานแอปพลิเคชันยอดนิยมโดยใช้เว็บไซต์ Keywordtool.io พบว่า Instagram, Facebook มีคนอยากลบมากที่สุด รองลงมาคือ Snapchat,​ Twitter และ Telegram 

1.Instagram (900,120 ครั้ง)

2.Facebook (385,410 ครั้ง)

3.Snapchat (217,400 ครั้ง)

4.Twitter (92,490 ครั้ง)

5.Telegram (24,819 ครั้ง)

ความน่าสนใจของสถิตินี้ จะเห็นว่า Instagram มีคนอเมริกันสนใจที่จะ ลบแอป Instagram มากที่สุดถึง 900,120 ครั้ง ซึ่งมากกว่า Facebook เป็นเท่าตัว และมากกว่าอันดับอื่นๆ หลายเท่าตัว

และเมื่อเทียบกับสถิติแอปพลิเคชันที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในปี 2022 ที่ผ่านมา Instagram นั้น มียอดดาวน์โหลดมากเป็นอันดับ 2 ที่ 548 ล้านครั้งทั่วโลก ตามหลังอันดับ 1 อย่าง TikTok ที่มียอดดาวน์โหลด 672 ล้านครั้ง

ซึ่งข้อมูลจาก สำนักข่าวระดับโลก CNBC ระบุว่า แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กของ Meta ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีการชะลอการเติบโตของผู้ใช้และล่าสุดในปี 2022 ที่ผ่านมาเริ่มมีจำนวนผู้ใช้ลดลงเป็นครั้งแรก มีผลสำรวจความเห็นของผู้ใช้ที่ไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับประเด็นในเรื่อง ข่าวปลอมที่เผยแพร่ในแพลตฟอร์ม การกลั่นแกล้ง การหลอกลวงของมิจฉาชีพ และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

ผู้ใช้จำนวนไม่น้อย กังวลว่าโซเชียลมีเดียมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น มีผลสำรวจจากทาง Pew Center เกี่ยวกับวัยรุ่นอเมริกัน เริ่มมีความสนใจที่จะเลิกใช้โซเชียลมีเดีย โดยเริ่มมีความลังเลว่าจะเลิกใช้ไปเลยดีหรือไม่ โดยผลสำรวจในปีที่แล้ว ระบุว่า 54% วัยรุ่นยังรู้สึกว่าค่อนข้างยากที่จะเลิกใช้โซเชียลมีเดียทั้งหมด 46% บอกว่าตัดสินใจเลิกใช้ได้ไม่ยาก และอีก 20% บอกว่าเลิกใช้ได้เลยแบบไม่ลังเลใจ

นอกจากนี้ ในผลสำรวจเดียวกัน 62% ของวัยรุ่นอเมริกัน ใช้งาน Instagram และมีเพียง 32% ที่บอกว่าพวกเขายังใช้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นักวิจัยจาก University of Bath กล่าวว่า จากผลการทดลองอาสาสมัครจำนวน 154 คน อายุระหว่าง 18 ถึง 72 ปี ที่เลิกเล่นโซเชียลมีเดียแค่ 1 สัปดาห์ พบว่า สุขภาพจิตดีขึ้น

คลิปอีจันแนะนำ
นาทีชีวิต พลังซูม 100 เท่า ช่วยชีวิตหนุ่มตกเจ็ทสกี