ผ่าชีวิต พญ.คุณหญิงพรทิพย์ แพทย์หญิงนิติเวชมือฉมัง

สืบ จาก ศพ ผ่าชีวิต พญ.คุณหญิงพรทิพย์ แพทย์หญิงนิติเวชมือฉมัง ผู้อยู่เบื้องหลังคดีดัง

หากนึกถึงหมอนิติเวช ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นจากสีผมที่ฉีกลุคความเป็น “คุณหมอ” และมักปรากฏชื่ออยู่บนสื่อ หนังสือพิมพ์ คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ หรือที่รู้จักกันดีคือ “หมอพรทิพย์”

เส้นทางวงการแพทย์ของหมอพรทิพย์ หลังจบการศึกษา ก็ได้ไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ก่อนจะได้รับทุนเรียนต่อสาขาพยาธิวิทยา และเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคุณหมอพรทิพย์ ก็รับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยนิติเวชและหัวหน้าหน่วยตรวจศพ 

ชื่อเสียงของ หมอพรทิพย์ เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง จากการเป็นแพทย์ผู้ผ่าศพคดีดังๆ ต่างๆ มากมาย รวมถึงมีผลงานด้านนิติเวชมาอย่างต่อเนื่อง

“หมอไม่ได้อยากเป็นนิติวิทยาศาสตร์ในทันที มันเริ่มจากเบื่อระบบราชการ มันก็เลยเป็นเหตุให้เรามองหาสาขาที่เราจะทำงานได้ในระบบราชการ เลยมาตัดสินใจเลือกเป็นสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งสาขาขาดแคลนก็แปลได้ว่าไม่ทำเงิน หมอเลยไม่ค่อยเลือก และสาขาที่ไม่นิยมที่สุด ก็คือ พยาธิ ก็เลยเลือกที่พยาธิกายวิภาคซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยการเรียนรู้ร่างกายของมนุษย์โดยละเอียด แต่พยาธิกายวิภาคมันยังไม่ใช่นิติเวช มันเป็นการตัดตรวจชิ้นเนื้อ และตรวจศพ 10%“

จากนั้นเราก็เริ่มทำงานฝาก ก็คืองานนิติเวช ผ่าศพแล้วรู้สึกชอบ แต่หลังจากเป็นพยาธิแพทย์แล้วเราก็ถึงได้พบว่าเราเบื่ออันนั้นแล้ว เราชอบนิติเวช ก็เลยมาสอบความเชี่ยวชาญ ความรู้ความเชี่ยวชาญเพิ่มก็จะได้เป็น 2 บอร์ด พยาธิกายวิภาคกับนิติเวช อันนี้ก็คือที่มา คุณหมอพรทิพย์ กล่าว

คำว่า “สืบ จาก ศพ” ในมุมมองของคุณหมอพรทิพย์

สืบจากศพ ที่เป็นพยาธิกายวิภาค ส่วนใหญ่จะสืบจากศพและประวัติสั้นๆ แต่พอเป็นศพคดีมันจะไม่ใช่สืบจากศพอย่างเดียว ยกตัวอย่าง ศพลอยน้ำเป็นผู้หญิงใส่กางเกงในตัวเดียว ถ้าเราไม่แกะกางเกงในเองเราก็จะไม่เห็นหลักฐาน เป็นใบไม้เน่าๆ ที่อยู่ใต้กางเกงใน ถ้าเราไม่เห็นศพทันทีศพถูกล้างไปก่อนเราจะไม่รู้เลยว่า ตัวเปื้อนเมือก แบะมีใบไม้เน่าๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในความรู้ทางพยาธิ แต่มันเป็นหลักฐาน ซึ่งต้องอาศัยความช่างสังเกตและการประมวลผลของเราว่า ใบไม้เน่าๆ จะอยู่ในน้ำนิ่ง น้ำเจ้าพระยาเป็นน้ำใส เพราะฉะนั้นเมื่อตัวเปื้อนเมือกมีใบไม้เน่าๆ ผู้ตายก็น่าจะถูกฆ่าที่คูน้ำก่อนเอามาโยนแม่น้ำเจ้าพระยา อันนี้คืองานนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันไม่ง่ายแต่ต้องขึ้นต้นด้วยความช่างสังเกต

ไม้เบื่อไม้เมา กับ ตำรวจ?

พนักงานสอบสวยในกรุงเทพฯ คุ้นชินกันการทำคดี คือ เจอคดีก็รอ 60 วัน แล้วไปรับรายงานมา แต่สำหรับเราตอนอยู่ต่างจังหวัด เราผ่าศพปุ๊บเราโทรหาตำรวจ ตำรวจวิ่งมาดู แล้วเอาข้อมูลที่ทำให้เชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งตรงนี้ในกรุงเทพฯ ยากมาก เพราะว่า ตำรวจทำคดีแล้วก็ไป พอเราเจอหลักฐานแล้วบอกเขา เขาก็จะรู้สึกว่าเกี่ยวอะไร หมายความ คือบางทีพยานหลักฐานไม่ได้ถูกเอาไปใส่ในสำนวนทั้งหมด อันนี้เราก็ไม่เห็นด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าความยุติธรรมมันไม่เกิด

“เหมือนกับหลายอย่างซื้อมันได้ คือ ความร่ำรวย กับ อำนาจ”

ชีวิตหลังเกษียณ ของหมอพรทิพย์ ยังคิดถึงการผ่าศพอยู่มั้ย?

ยังชอบงานพวกนี้อยู่ คือ การทำงานด้านนี้จริงๆ ยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะ ที่สำคัญเลยคือ มันฝึกเราให้คุ้นชินกับการทำงานในแบบที่เรียกว่า “ปิดทองใต้ฐานพระ”

“ในชีวิตหมอไม่เคยได้รับการตอบแทนใดๆ จากญาติ แล้วก็คำชม ถือเป็นการฝึกธรรมะได้ดีที่สุด จากการที่ทำงานด้านศพมา แน่นอนมันบอกเราเรื่องของการเข้าใจชีวิต ว่า ชีวิตเรามันก็เท่านี้เอง เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะไปยึดติดอะไรมากนัก“
”การผ่าศพสอนเราอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำความดีมันเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะตอนที่เราผ่าศพเราจะรู้เลยว่า ถ้าเราตาย สิ่งที่เราคิดอย่างแรกคือ เราไปอยู่ที่ไหน การผ่าศพสอนให้เราใช้ชีวิตให้มีค่า“

เรียกได้ว่า เส้นทางวงการแพทย์นิติเวชของคุณหมอพรทิพย์อันยาวนานหลายสิบปี ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า คุณหมอพรทิพย์ คือ หมอนิติเวชมือฉมังที่ยังโลดแล่นอยู่ในหน้าสื่อ…แม้ในวันที่เกษียณไปแล้วก็ตาม