แอบอัดเสียง! ป้องกันตัว หรือละเมิดสิทธิ์ ภายใต้กฎหมาย PDPA

ดราม่าสนั่น! กรณีดาราสาวเม้าท์กัน จนเป็นข้อถกเถียงทำถูกหรือไม่ แล้วภายใต้กฎหมาย PDPA การแอบอัดเสียงทำได้ไหม ถือเป็นการป้องกันตัว หรือละเมิดสิทธิ์ ทนายเจมส์มีคำตอบ

ถกสนั่นโซเชียล กรณีนางเอกสาว ใหม่ ดาวิกา และแก๊งนางเอก 4 ม. นั่นคือ มิว นิษฐา, มิ้นต์ ชาลิดา และมาร์กี้ ราศรี พูดคุยกันผ่านรายการเพื่อนใหม่ EP.3 ทางช่องยูทูป โดยมีชาเลนจ์ตอบคำถามสุดลับ ที่เมื่อหยิบขึ้นมา ให้เลือกจะตอบหรือไม่ตอบได้ หากไม่ตอบจะต้องรับบทลงโทษที่เตรียมไว้

และหนึ่งในคำถามของ สาวมาร์กี้ ที่จับได้นั้นคือ เคยร่วมงานกับใครแล้วไม่ขอร่วมงานอีก? ซึ่งมาร์กี้ ก็ยอมตอบคำถามนี้ และเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า เคยมีปัญหากับดาราท่านหนึ่ง จนถึงขั้นอัดเสียงเอาไว้

แต่กลับเจอกระแสตีกลับว่า เป็นการกระทำที่แย่มาก และมีการวิจารณ์กันจนแฮชแท็ก #ใหม่ดาวิกา ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

อีจันxทนายเจมส์ วันนี้จึงจะมาไขข้อข้องใจประเด็นนี้ในแง่มุมกฎหมาย ว่า เราๆ จะมีวิธีการรับมือในเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะภายใต้กฎหมาย PDPA หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะยังกดอัดเสียงใคร แบบสุ่มสี่สุ่มห้าได้หรือไม่ ไปฟัง ‘ทนายเจมส์’ เฉลยกัน

ทนายเจมส์ ระบุว่า การพูดพาดพิง หรือใส่ความผู้อื่น ไม่ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่จริงหรือไม่จริงก็ตาม หากทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ก็เป็นความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาได้

แม้เรื่องที่พาดพิงผู้อื่น จะเป็นเรื่องจริง แต่หากเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว ก็เป็นความผิดได้เช่นกัน

ในกรณีที่ไม่ได้เอ่ยชื่อนามสกุลของผู้ถูกพาดพิง ก็อาจจะถูกดำเนินคดีได้เช่นกัน หากผู้ฟังหรือประชาชนทั่วไปฟังแล้วรู้ว่าเป็นผู้ใด เช่น กรณีพูดชื่อเล่นและฉายานาม ทำให้ประชาชนสามารถทราบตัวบุคคลได้อย่างชัดเจน เป็นต้น

ส่วนการบันทึกเสียงสนทนาของผู้อื่น สามารถทำได้ หากนำไปใช้เป็นหลักฐานในกระบวนการยุติธรรม เช่น ส่งมอบให้กับตำรวจ หรือศาล เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเรื่องที่มีข้อพิพาทกัน หรือ พิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญา

การแอบอัดเสียง หรือ บันทึกข้อตกลงสนทนา ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากเสียงบันทึกการสนทนา หรือ ข้อความสนทนา ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้ยืนยันตัวบุคคลตามกฏหมาย

แม้การกระทำดังกล่าวจะไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่หากการกระทำดังกล่าว ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิ์ หรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ ย่อมมีสิทธิ์ฟ้อง เพื่อขอให้ลบการบันทึกเสียงหรือภาพบันทึกการสนทนาดังกล่าว รวมถึงมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายได้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับชาวเน็ตที่โต้เถียงกันไปมา ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กระทั่ง ‘สาวใหม่’ จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย นั้น ทนายเจมส์ ให้ความรู้ด้านกฎหมายว่า การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น หรือติชมด้วยความเป็นธรรม เป็นวิสัยของประชาชนที่พึงจะกระทำได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่หากการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นดังกล่าว เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ โดยการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย หรือเป็นข้อความที่ไม่เป็นความจริง ย่อมถูกดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นด้วยการโฆษณา หรือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาแล้วแต่กรณี

พร้อมทั้งสามารถเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้ด้วย แต่มูลค่าความเสียหายจะมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และศาลจะพิจารณาว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีส่วนในความเสียหายนั้นด้วยหรือไม่ โดยศาลจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม

คลิปอีจันแนะนำ
เปิดเหตุการณ์ที่ทำให้ แม่วัย 17 ยอมสารภาพ ด.ช.8 เดือนหายปริศนา