ผัว-เมีย ตบตีกัน คนนอกควรยุ่งไหม?

รู้ไหมผัวตบตีเมีย หรือผัว-เมีย ทะเลาะกันจนทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย เป็นความผิดคดีอาญา และเมื่อเจอผัว-เมีย ทะเลาะกัน คนนอกควรยุ่งหรือไม่ อีจัน มีคำตอบ

คำถามที่หลายคนยังสงสัย

เรื่องของ ผัว-เมีย คนนอกอย่ายุ่งจริงหรือ?

วันนี้ อีจัน มีคำตอบ ว่าควรยุ่งหรือไม่ควรยุ่ง!

รู้ไหมว่า ผัว-ตบเมีย ทำร้ายลูก มีความผิดตามคดีอาญา!

เพราะการทะเลาะกันจนถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายของผัว-เมีย ถือว่ามีความ “ผิด” ตามประมวลกฎหมายอาญา

ซึ่งมีการกำหนดโทษของคดีทำร้ายร่างกายโดยเจตนาไว้หลายระดับ ตามความหนักเบาของบาดแผลที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำต่อบุคคลเฉพาะที่กำหนดไว้ หรือมีพฤติกรรมพิเศษ ดังนี้

– มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือ จิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยกตัวอย่างเช่น ตบหน้ามีรอยแดงๆ ชกต่อยเพียงฟกช้ำไม่มีเลือดไหล ศีรษะโน เป็นต้น

– มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

– มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าได้กระทำต่อบุคคลเฉพาะเจาะจง เช่น บุพการี เจ้าพนักงาน เป็นต้น หรือพฤติการณ์พิเศษ เช่น การวางแผนล่วงหน้า กระทำทารุณกรรม เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

– มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตราย สาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 200,000 บาท โดยกำหนดลักษณะบาดแผลซึ่งถือเป็นอันตรายสาหัสไว้ 8 ลักษณะ เช่น ตาบอด ใบหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือทำงานไม่ได้เกินกว่า 20 วัน เป็นต้น

ถ้าพบเห็น ผัว-เมีย ทะเลาะกันจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย เราควรทำอย่างไร

ตำรวจสอบสวนกลาง แนะนำว่า เพื่อหยุดความรุนแรงที่อาจจะบานปลายกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า ให้คนที่พบเห็นเหตุการณ์ทำดังนี้

1. เข้าสังเกตการณ์ เพื่อให้รู้ว่ามีคนคอยช่วยเหลือผู้เสียหายอยู่หรือไม่, มีการใช้อาวุธทำร้ายร่างกายหรือไม่

2. เข้าไปตักเตือน ทั้งนี้ต้องดูความปลอดภัยของผู้ช่วยเหลือด้วย

3. หากมีความเสี่ยง ไม่สามารถรับมือได้ ควรเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่บริเวณนั้น เข้าให้ความช่วยเหลือร่วมด้วย

4. แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ให้การเข้าช่วยเหลือไม่ให้เกิดความรุนแรงอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกาย

อ๊ะ! จากนี้ไปขอให้คิดไว้นะคะ “เสือก = ช่วย”

หากพบเห็นการทำร้ายร่างกาย หรือการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภายใน หรือภายนอกครอบครัว ต้องช่วยกันยับยั้ง และช่วยเหลือผู้เสียหาย ไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น เพราะการทำร้ายร่างกายระหว่างผัว-เมีย ไม่ใช่เรื่องปกติ

ได้คำตอบแล้วนะคะ ว่า เรื่องของ ผัว-เมีย คนนอกควรยุ่ง! หากมีการทำร้ายร่างกายกัน จนทำให้เกิดความรุนแรงอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย

อ้างอิงข้อมูลจาก :

https://songkhla.moj.go.th/view/8020

https://www.facebook.com/photo?fbid=160047589862120&set=a.127278976472315