รู้ไหม ? “อังกะลุง” ของไทย-อินโดนีเซีย ต่างกันอย่างไร

อังกะลุง เกิดมา 400 ปี จากชาวอินโดนีเซีย ซึ่งยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลก แล้วรู้ไหมอังกะลุงไทย กับ อังกะลุงอินโดนีเซียต่างกันอย่างไร

วันนี้ใครเปิดกูเกิลจะเห็น Google Doodle ที่ร่วมฉลองให้กับ “อังกะลุง” เครื่องดนตรีไม้ไผ่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีต้นกำเนิดจาก อินโดนีเซีย

สำหรับ “อังกะลุง” (Angklung) ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 พ.ย.54 (ค.ศ.2010) โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)

ต้นกำเนิดของอังกะลุงมีอายุย้อนไปถึง 400 ปีก่อน จากชาวอินโดนีเซีย ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่สองท่อนและฐาน เริ่มต้นมาจากช่างฝีมือที่ทำการเหลาไม้ไผ่เป็นกระบอกขนาดต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดระดับเสียงของอังกะลุง

เมื่อผู้เล่นเขย่าหรือเคาะฐานไม้ไผ่เบา ๆ เครื่องดนตรีจะส่งเสียงแหลมเสียงเดียว เนื่องจากอังกะลุงสามารถเล่นได้เพียงโน้ตเดียวเท่านั้น ดังนั้นการเล่นดนตรีชนิดนี้จึงต้องร่วมวงกันสร้างทำนองด้วยโน๊ตต่าง ๆ จากการเขย่าอังกะลุงตามระดับเสียงที่แตกต่างกัน

ในสมัยโบราณชาวบ้านเชื่อว่าเสียงของไม้ไผ่สามารถดึงดูดความสนใจของเทวีศรี เทพีแห่งข้าวและความเจริญรุ่งเรืองได้ ในแต่ละปี ช่างฝีมือที่ดีที่สุดของหมู่บ้านจะใช้ไม้ไผ่สีดำพิเศษเพื่อสร้างอังกะลุง ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว พวกเขาจัดพิธีและเล่นอังกะลุงโดยหวังว่าเทพเจ้าจะประทานพรให้พืชผลอุดมสมบูรณ์

นอกจากนี้ อังกะลุง ยังคงเป็นแก่นของวัฒนธรรมชาวอินโดนีเซีย บ่อยครั้งรัฐบาลจะจัดการแสดงอังกะลุงเพื่อต้อนรับแขกผู้มีเกียรติสู่ทำเนียบประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย 

ส่วนในด้านการเรียน อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีที่ยอดเยี่ยมสำหรับครูในการแนะนำนักเรียนให้รู้จักดนตรีและวัฒนธรรมชาวอินโดนีเซีย

“อังกะลุง” เครื่องดนตรีประเภทตีของไทย

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ระบุว่า อังกะลุงจัดอยู่ในประเภทเครื่องตี (เครื่องดนตรีไทยมี 4 ประเภท คือ ดีด สี ตี เป่า) การตีของอังกะลุงเกิดจากการ เขย่าเพื่อให้กระบอกไปตีกระทบกับราวไม้แล้วเกิดเสียงขึ้น จัดเป็นภูมิปัญญาที่พัฒนาขึ้นอีกขั้นหนึ่งที่มีความซับซ้อนกว่าการตีบนตัวกระบอกอย่างเกราะ กรับ หรือโกร่ง และยังสามารถประสานเสียงได้ถึง 3 ระดับ เพราะกระบอก 3 กระบอกที่มีขนาดต่างกัน เสียงที่เกิดขึ้นจึงมี 3 ระดับ ซึ่งเป็นพัฒนาการของเครื่องดนตรีไทยประเภทอังกะลุงในประเทศไทย

แต่เดิมอังกะลุงจากประเทศอินโดนีเซียจะมีเพียงแค่ 2 กระบอก จนกระทั่งเมื่ออาจารย์เฉลิม บัวทั่ง ได้นำมาลองทำอังกะลุงให้เกิดเสียงจากไม้ไผ่ 3 กระบอก นับตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2495 เรื่อยมาอังกะลุงในประเทศไทยจึงได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นแบบ 3 กระบอก ดังเช่นในปัจจุบัน โดยแตกต่างจากเครื่องดนตรีชนิดอื่นคือ เป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงตัวโน้ตเดียวในหนึ่งอัน ดังนั้นเวลาบรรเลง จึงจำเป็นต้องบรรเลงร่วมกันเป็นวง เพื่อสร้างความสุนทรีย์ทางดนตรีให้เกิดเสียงเพลงอันไพเราะขึ้นได้

ทั้งนี้ เสียงดนตรีที่เกิดจากการเขย่ากระบอกไปกระทบกับรางไม้เกิดเป็นโทนเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้นี่เอง จึงถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาการสร้างสรรค์จากวัสดุที่เรียบง่าย อย่างไม้ไผ่ลายที่จะต้องมีกรรมวิธีที่ก่อให้เกิดเสียงอันกังวาล รวมถึงการตั้งเสียงเทียบเสียงที่เกิดจากทักษะการฟังของผู้สร้างอังกะลุงจนทำให้เกิดการบรรเลงดนตรีที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย และเป็นเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งที่ยังคงคุณค่าและแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาและศิลปะทางดนตรีมาจนถึงยุคปัจจุบัน

เคล็ดลับการทำอังกะลุงอยู่ที่การเลือกไม้ไผ่ลายที่ ลักษณะเฉพาะคือ เนื้อบางและแข็งแกร่ง เมื่อเคาะจะเกิดเสียงดังก้องกังวาน การเลือกไม้ไผ่ต้องเลือกไม้ไผ่ที่ค่อนข้างแก่ซึ่งสังเกตจากกาบต้นไผ่จะหลุดออกหมด มีสีนวลน้อยลงจะมีสีเขียวเข้มแก่มากขึ้น (หากไม้ไผ่ที่ยังอ่อนจะยังมีกาบสีนวลขาว ๆ ติดอยู่กับลำต้น) เพราะผิวไม้ไผ่เมื่อแก่จัดจะเป็นลายทำให้เพิ่มความงดงามตามธรรมชาติอย่างแท้จริง นำไม้ไผ่มาตากแดดจนกว่าจะแห้ง โดยดูสีให้ออกเป็นสีเหลือง จะเห็นว่าอังกะลุงที่เสียง ไพเราะจะมีลวดลายที่เด่นชัดขึ้น เนื่องจากตากแดดจนแห้งสนิทแล้วนั่นเองจนทำให้เห็นลวดลายจากเนื้อไผ่ได้อย่างชัดเจน จากนั้นนำมาย่างไฟอีกรอบ ให้หนอนไม้ตาย จึงนำมาแช่น้ำยาหรือทาน้ำมันกันมอด

อังกะลุงมีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วนคือ

1. ตัวอังกะลุง

ทำมาจากไม้ไผ่ลาย เนื่องจากเป็นไม้ที่มีเนื้อแข็งแกร่ง เมื่อแก่เต็มที่ทำให้มีเสียงที่ไพเราะ มีลายที่สวยงาม อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบาอีกด้วย

2. รางไม้

เดิมจะใช้ไม้สักทองขุดเป็นราง เพื่อใช้วางขาที่ฐานกระบอกลงในร่องที่ขุด จะมี 3 ร่อง และรูกลมอีก 5 รู สำหรับตั้งเสายึดตัวกระบอกอังกะลุง

3. เสาอังกะลุง

มักทำด้วยไม้ไผ่เหลา ไม้เต็ง ไม้เนื้อแข็งนำมาเกลาหรือกลึงจนกลมเรียบ มีความยาวตามความสูงของกระบอกอังกะลุง ขนาดโตกว่ารูที่รางเล็กน้อย

4. ไม้ขวาง

ทำด้วยไม้ไผ่เหลาแบน ส่วนกลางปาดเนื้อไม้เป็นร่องลึกพอประมาณใช้สำหรับสอดผ่านช่องกระบอกอังกะลุง เพื่อยึดตัวกระบอกไม้ไผ่กับเสา

ที่มา : https://www.google.com/doodles/celebrating-the-angklung

https://www.sacit.or.th/uploads/items/attachments/e65d4c415d8f7f41751b1c0415f03eae/_05ff0b520c4c68cf205eea0f5ac0c24a.pdf

คลิปอีจันแนะนำ
จากคนเบื้องหลัง สู่นักวิจารณ์ปากแซ่บ “ท็อป หนอนหนัง”