ให้ “เรา” ช่วยโอบกอดในวันที่มีบาดแผลในใจ

สสส. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย เดินหน้า ยุติปัญหาความรุนแรง จัดงาน “เรา” แพลตฟอร์มของเพื่อนที่เข้าใจ

คุกคามทางเพศ ข่มขู่ ข่มขืน

ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเหล่านี้

“เรา” ให้พื้นที่ตรงนี้ “เป็นพื้นที่ปลอดภัยนะ”

ทุกวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล” โดย สสส. ได้ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายดำเนินงานยุติปัญหาความรุนแรง จัดงาน “เรา” พื้นที่พลังบวก สะท้อนให้สังคมได้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ผลักดันให้เป็นประเด็นสาธารณะเกิดการแก้ไข เปิดตัว แพลตฟอร์ม “เรา” ชุมชนออนไลน์เสริมพลังหญิง ให้ได้ทดลอง Public Beta Testing ก่อนใช้งานจริงในต้นปี 2567 จัดกิจกรรมเสวนา “พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัย หน้าตาเป็นอย่างไร ผู้ใช้ต้องเป็นคนกำหนด” นิทรรศการ ทำความเข้าใจกับคำว่า Trauma  หรือ เหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เผยว่า “องค์กรเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ระบุว่า 88% ของผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถูกคุกคามทางเพศบนออนไลน์โดยเด็กหญิงวัยรุ่น และคนกลุ่มเปราะบางรับผลกระทบมากที่สุด มีสาเหตุสำคัญจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงเป็นภารกิจหลักที่ สสส. มุ่งมั่นขับเคลื่อนต่อไป พร้อมผลักดันความรุนแรงเป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อลดความรุนแรงอันเนื่องจากเหตุแห่งเพศ โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ด้าน  1.พัฒนาองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติในการลดความรุนแรง 2.พัฒนาต้นแบบในระดับชุมชนและสถานประกอบการ 3.เสริมศักยภาพแกนนำ/เครือข่ายลดความรุนแรง 4.สนับสนุนการขับเคลื่อนงานนโยบายลดความรุนแรง”

 “พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัย หน้าตาเป็นอย่างไร ผู้ใช้ต้องเป็นคนกำหนด”

 

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา เผยว่า ปี 2564-2566 แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ ร่วมกับ Sidekick และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ศึกษาข้อมูลทำงานกับเยาวชนหญิงที่กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน พบว่า เคยประสบเหตุการณ์ถูกคุกคาม หรือ ล่วงละเมิดในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศ จำนวน 270 คน จาก 18 มหาวิทยาลัย  75 % เคยถูกคุกคามทางเพศโดยคนแปลกหน้าในที่สาธารณะ ตามมาด้วยการคุกคามทางเพศในพื้นที่ออนไลน์ 58%  และ 87% ของเยาวชนกลุ่มนี้บอกว่าเมื่อเจอเหตุการณ์ถูกคุกคาม หรือมีภาวะที่ถูกกระทบทางจิตใจจากเหตุการณ์ในอดีต จะเลือกหาความช่วยเหลือจากเพื่อนและคนในครอบครัว มีเพียง 20% ที่เลือกใช้ช่องทางความช่วยเหลือแบบเป็นทางการ เช่น จิตแพทย์ ตำรวจ และสายด่วนต่าง ๆ และยังมีอีก 10% ที่บอกว่าไม่เคยขอความช่วยเหลือจากแหล่งใด ๆ เลย

“เหตุการณ์ที่เคยถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดในอดีตได้สร้างผลกระทบทางจิตใจ มีผลไปถึงการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกเครียด หวาดผวา เสียความมั่นใจในตัวเอง บางส่วนต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ ยกเลิกหรือเปลี่ยนบัญชีโซเชียลมีเดีย และส่วนใหญ่บอกว่าไม่กล้าเข้าสังคมและทำความรู้จักคนใหม่ ๆ จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม “เรา” โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเป็นที่ปรึกษา ให้ข้อมูล โดยมีรูปแบบการแชร์ประสบการณ์ การก้าวข้ามเรื่องร้าย ๆ ในอดีตของบุคคลที่มีชื่อเสียง เคล็ดลับการสร้างวันดี ๆ ให้กับตัวเอง ช่องทางการพูดคุยแลกเปลี่ยนออนไลน์ โดยจัดกิจกรรมเยียวยา และเสริมพลังทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ที่สมาชิกสมัครเข้าร่วมได้ มีข้อมูลหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ สำหรับผู้ที่ต้องการ เข้าใช้งานได้ที่ www.rao.asia แพลตฟอร์มของเพื่อนที่เข้าใจ” ดร.วราภรณ์ กล่าว

“แพลตฟอร์ม “เรา” เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นช่องทางให้สร้างเพื่อน สร้างกำลังใจ มอบแรงบันดาลใจให้กัน ใช้งานได้ทุกช่วงเวลาทั้งตอนรู้สึกดาวน์ ต้องการกำลังใจ หรือช่วงเวลาที่รู้สึกดีๆและอยากแบ่งปัน Feature ที่ชอบมากที่สุดคือ พื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน ด้วยความที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน จึงทำให้รู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยคนอื่นๆในพื้นที่ชุมชนของ “เรา” มีประสบการณ์ เคยเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน ก็จะเข้าใจกันมากกว่าเวลาคุยกับคนรอบข้างที่มองว่าสิ่งที่เราเจอมาเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย จนทำให้เลือกเก็บทุกอย่างไว้คนเดียวมาตลอด พอมาเจอช่องทางที่ได้พูดและได้รับการตอบกลับมาเป็นข้อความที่ดี เป็นกำลังใจ ให้ข้อคิด ทำให้เราเจอทางออกอีกทาง” ทิพย์เกสร สุตันคำ ตัวแทนผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม กล่าว

ภัสรนันท์ อัษฎมงคล หรือ เบียร์ ก็เป็นหนึ่งในผู้เสียหาย ที่เกิดจากการคุกคามทางออนไลน์ เธอ เล่าว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตขึ้นกับเธอ มีคุณแม่และผู้จัดการที่คอยดูแล ตอนเกิดเรื่องบุคคลเหล่านี้คอยสนุบสนุนและให้กำลังใจตลอด ทำให้สามารถพูดว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการรังเกียจและตัดสินใดๆ จากคนรอบข้าง รวมถึงการที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วทำให้ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เบียร์ ฝากถึงน้องๆว่า ใครที่ยังรู้สึกว่าไม่อยากเล่าให้ใครฟัง อย่าลืมว่าเรายังมีคนใกล้ตัวที่รักเราจริงๆ รอรับฟังอยู่ การบอกเร็วเท่าไรยิ่งแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น แต่การเก็บไว้นานจะทำให้เราเครียดกับเรื่องที่เกิดขึ้นมากขึ้น หลายคนอาจรู้สึกอับอาย ในฐานะที่เธอผ่านประสบการณ์มา อยากบอกว่าอย่าอายที่จะปกป้องตัวเอง หรือ ขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะเราคือผู้ถูกกระทำ เราไม่ควรต้องอายเรื่องพวกนี้ การแบกมันไว้คนเดียวไม่ได้ช่วยอะไร

“ประเด็นคือการไม่กล้าพูดอาย ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง แต่สมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ ส่วนเบียร์ก้าวผ่านได้อย่างไรนั้น โลกออนไลน์ตอนนี้ไปไว มีทั้งสิ่งดีและไม่ดีที่พร้อมเข้าหาเราได้เสมอ เราต้องรู้เท่าทัน เมื่อสิ่งไม่ดีเข้ามา ไม่อยากให้เก็บไว้ในใจ เพราะไม่มีประโยชน์อะไร ต้องเข้าใจว่าในโลกออนไลน์คนจะพิมพ์อะไรก็ได้อย่างง่ายดาย อะไรรู้สึกแย่ก็บล็อกไม่ต้องให้ค่ากับสิ่งเหล่านั้นหรือคนเหล่านั้น การไม่ให้ค่าคือการที่เราไม่ไปมีอารมณ์ร่วม การที่ทำให้พวกเขาเห็นว่าไม่มีอะไรทำร้ายเราได้ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด ทำให้เห็นว่าคำพูดเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราย่ำแย่ลง การที่เรามีความสุขกับสิ่งที่เราเป็นอยู่คือสิ่งที่ดีที่สุด ทำให้เขาเห็นว่ามันหยุดการใช้ชีวิตของเราไม่ได้ ที่สำคัญขอฝากว่าพื้นฐานของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ และผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับการใช้โซเชียล เพราะวันหนึ่งเขาอาจะเป็นผู้ถูกกระทำหรือไปกระทำคนอื่นได้เช่นกัน”

เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดเจ้าของเพจ Beautiful Madness by Mafuang กล่าวว่า  “Trauma คือผลกระทบของเราไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น  Trauma ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะผ่านประสบการณ์ชีวิตมาแตกต่างกัน สิ่งที่ตนอยากบอกคนที่มาหานักจิตบำบัด คือ  เรามีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของเราเอง ถ้าเราเลือกที่จะเยียวยามันก็สำเร็จกว่าครึ่ง ซึ่งการเยียวยาของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนขอพื้นที่แค่ได้ระบาย เราต้องเปิดโอกาส

ให้ตัวเองได้รู้ว่าวิธีเยียวยาไหนเหมาะกับเรามากที่สุด ต้องเปิดโอกาส ให้เวลาตัวเองได้รับการเยียวยา การเยียวยาไม่ใช่การแข่งขัน ไม่มีเส้นชัย สุดท้ายมันเหมือนการที่เราปลูกดอกไม้ ปลูกวันนี้ ไม่ใช่ไปตะโกนด่าเมื่อไรจะโตและสวยงาม เราต้องให้เวลา เราต้องใจเย็นกับตัวเอง และเราต้องเป็นคนสุดท้ายที่จะรู้สึกเป็นศัตรูกับตัวเอง ส่วนชุมชนออนไลน์มีความสำคัญอย่างไรนั้น มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่คนเดียวชุมชนออนไลน์จึงสำคัญ เพราะทำให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยวหรือรู้สึกว่าอยู่คนเดียว และยังเป็นพื้นที่ๆ จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นสามารถรู้สึกดีและสามารถเยียวยาจิตใจให้ดีขึ้นได้”

 รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ นักวิชาการอิสระด้านสุขภาพจิตและเพศภาวะ กล่าวว่า  ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องประเด็นการคุกคามทางเพศ และมองแค่ว่าหากคนไข้มาหาเพราะเกิดความเครียด หรือนอนไม่หลับก็เพียงจ่ายยาให้กิน มองว่าเป็นปัญหาที่ตัวคนไข้เอง และคนไข้ต้องจัดการปัญหานี้ แต่ในประเด็นการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ มันไม่ใช่เขามีปัญหาแต่เป็นสังคมที่มีปัญหา คนที่ทำความรุนแรงกับเขาคือปัญหา แต่ในบ้านเรามันยังไม่ถูกอธิบายแบบนี้ ดังนั้นกรอบการคิดด้านเพศสภาวะ (Gender Lens) จึงมีความสำคัญ ซึ่งเราพยายามที่จะรณรงค์ว่าคนที่เรียนทางด้านสาธารณสุขควรจะมีชุดความคิดด้านเพศสภาวะ  ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการฝึกอบรมเรื่องนี้ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมก็มีความเข้าใจมากขึ้นว่าอันดับแรกต้องรับฟังก่อน ฟังด้วยหัวใจ ไม่ใช่ฟังสมอง  ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกดี และเข้าใจว่าจริงๆ แล้วปัญหาอยู่ที่สังคม คนไข้จึงไม่ต้องเปลี่ยนอะไร  แต่เรารับฟังและเข้าใจคุณ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตามการเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ยังมีน้อย และคนที่เข้าไปรับบริการในโรงพยาบาลมีเป็นจำนวนมาก

“บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับฟังเป็นอันดับแรก และฟังด้วยหัวใจไม่พอ เรื่องการคุกคามทางเพศ ความรุนแรง ต้องเข้าใจบริบท ความเป็นหญิง ชาย  หรือสังคมชายเป็นใหญ่ มันต้องมาด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น บางทีผู้รับบริการไม่ได้ป่วย ไม่ใช่คนบ้า  ซึ่งการเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์มีข้อจำกัด ทั้งทางด้านเวลา และบุคลากรที่ไม่เพียงพอ  ดังนั้นการมีแพลตฟอร์ม www.rao.asia จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการรับฟังและเป็นประโยชน์มาก”   รศ.ดร.สมพร กล่าว

ทั้งนี้ภายในงานยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ 4 มิติ “เราเข้าใจ” ผ่าน เสียง ภาพ สัมผัส กลิ่น ซึ่งเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากผู้ที่เคยต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจในรูปแบบที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์ พื้นที่สาธารณะและคนใกล้ชิดและมีบูธกิจกรรม รวมทั้งเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองใช้ชุมชนออนไลน์ rao.asia อีกด้วย

อย่าลืมว่ายังมี “เรา”

เราที่ยังอยู่กับเราเอง

และ แพลตฟอร์ม เรา ที่จะช่วยโอบกอดคุณ