ไทยติด 1 ใน 10 ของโลก เรื่อง ความรุนแรง ทั้งต่อเด็กและผู้หญิง

สสส. ชวนทุกคนไปส่งเสียงให้มีพลังหยุดปัญหา ความรุนแรง ที่เกิดในสังคม เพื่อเหยื่อที่ถูกกระทำ

หยุดความรุนแรง! 

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผย สถานการณ์ความรุนแรงทั่วโลก ปัญหาที่ยังพบคือ “ความรุนแรงในครอบครัว” และ “ความรุนแรงทางเพศ” ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่องทางต่างๆ ทุกวันนี้

อย่างเรื่องราวที่ ดาราสาว ดิว อริสรา ได้ออกมาเปิดใจทั้งน้ำตาถึงความเจ็บปวดที่เธอได้เจอ และไม่เคยเล่าที่ไหน เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าเธอนั้นก็เคยต้องเจอกับความรุนแรงเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย สะสมจนทำให้เกิด บาดแผลทางจิตใจ ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ก็ไม่อาจเยียวยา หรือลบเลือนสิ่งนั้นออกไปได้เลย

ไม่เพียงแต่ ดิว อริสรา เท่านั้นที่เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง แต่ยังมีอีกหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ไม่ได้ออกมาเปิดเผย อาจจะเพราะเขาไม่ใช่คนมีชื่อเสียง หรือเพราะไม่กล้าเผชิญกับความจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงการไม่อยากกลับไปพูดถึงเรื่องเหล่านั้นให้กลับมากระจบจิตใจอีก

ซึ่งข้อมูลจาก องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติ คดีความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง และยังพบ 1 ใน 3 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ แต่กลับมีเพียงผู้หญิงบางกลุ่มเท่านั้น ที่กล้าจะออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกกระทำรุนแรง และร้องขอความช่วยเหลือ 

ทำให้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ “ความรุนแรงต่อผู้หญิง” เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข และสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ เพราะเป็นปัญหาซับซ้อนหลายมิติ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือคนรู้จัก และยังพบทัศนคติจากคนรอบข้างว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว

นี่จึงเป็นที่มาให้ สสส. จัดงานประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้ สานพลังภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบงานสหวิชาชีพ เพื่อจัดการปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

เพื่อให้ผู้ที่เจอกับความรุนแรง มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการจัดการปัญหาที่มีคุณภาพมากขึ้น ผ่านการพัฒนาและเสริมศักยภาพของแกนนำชุมชน และทีมสหวิชาชีพในการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว ซึ่งจะมีหน่วยงานต่างๆ มาร่วมบรรยาย รวมถึงกระจายเสียงสู่สังคมว่า ไม่ควรเพิกเฉยต่อความรุนแรง หรือมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของคนอื่น และเสริมพลังและการปกป้องคุ้มครองตนให้พ้นจากความรุนแรงในทุกมิติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ เช่น ผู้หญิงพิการทางการได้ยิน ที่ประสบความยากลำบากในการสื่อสารแจ้งความดำเนินคดี หรือการเข้ากระบวนการรักษาเยียวยาจิตใจ เพื่อก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

โดยทาง สสส. ตั้งใจให้งานนี้เป็นพื้นที่กลางของการส่งเสียงที่ยังแผ่วเบาให้มีพลังมากขึ้น ฟังเสียงสะท้อนแง่มุมต่างๆ เพื่อฉุกคิดถึงปัญหาที่เกิดในสังคม และส่งเสียงไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันสนับสนุนและแก้ปัญหาสังคมมิติต่างๆ ที่อาจตกหล่นไป เพื่อเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงและสังคมที่ปลอดภัยน่าอยู่ร่วมกัน 

กิจกรรมนี้จะจัดขึ้น จะจัดขึ้น ในวันที่ 21 – 23 ก.พ. 2566 ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อการประชุม “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยินครั้งที่2” 

หยุด! นำความรุนแรงทุกด้านไปยัดเยียดให้ใคร

เพราะไม่มีใครสมควรตกเป็น… เหยื่อความรุนแรง