เช็กลิสต์ อุณหภูมิหน้าร้อนนี้ ระอุเบอร์ไหน เสี่ยงฮีทสโตรก

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดปีนี้ร้อนระอุกว่าปีก่อน เช็กลิสต์ด่วน! อุณหภูมิสูงเบอร์ไหน เสี่ยงโรคฮีทสโตรก

กรณีการเสียชีวิตของ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ ด้วยโรคฮีทสโตรก เมื่อกลางดึก 01.15 น.คืนที่ผ่านมา

ทำให้หลายคนเป็นกังวลถึงผลกระทบด้านสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนของไทยปีนี้ ที่คาดว่าอุณหภูมิจะร้อนระอุกว่าปีก่อน

เปิดประวัติ ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์’ เจ้าพ่อปากน้ำรู้จัก โรคฮีทสโตรก ภัยร้ายฤดูร้อน

ด้าน น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์กับ ‘อีจัน’ ว่า ตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าหน้าร้อนอย่างเป็นทางการ เรื่องที่ต้องระวังนอกจากต้องระวังพายุฤดูร้อนแล้ว ได้เน้นย้ำเรื่องโรคที่อาจเกิดขึ้นจากหน้าร้อนนี้มาโดยตลอด นั่นคือ โรคฮีทสโตรก

ซึ่งเกิดจากการอยู่ หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อมากเกินไป จนร่างกายขาดน้ำ แต่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้สึกตัว เพราะเมื่อถูกลมพัด ก็จะรู้สึกดีขึ้น 

“ความร้อนของแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยบางคนอาจทนอยู่กับอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียลได้ แต่บางคนทนไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องสังเกตร่างกายของตัวเอง เพราะผลกระทบจากอากาศที่ร้อนจัด ยังเสี่ยงเกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง จากอาหารบูดเสีย ได้อีกด้วย” น.ส.ชมภารี กล่าว

นอกจากนี้ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังกล่าวว่า ช่วงปลายเดือน มี.ค.ถึง เม.ย.66 จะเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุดของปี โดยอุณหภูมิสูงสุด 40-43 องศาเซลเซียล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

จึงแนะนำให้ประชาชนใช้ข้อมูลพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index Analysis เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์ความร้อนต่อสุขภาพ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศอุตุนิยมวิทยา ได้จัดทำพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน (HI) และเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ http://www.rnd.tmd.go.th

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สำหรับดัชนีความร้อน หรือ Heat Index นั้นคือ อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น ว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฎในขณะนั้นเป็นเช่นไร นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อน และเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยใช้สีเพื่อกำหนดระดับ ได้แก่ สีเขียว หมายถึง ระดับเฝ้าระวัง แทนค่าดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ คืออ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกาย หรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน

สีเหลือง หมายถึง ระดับเตือนภัย แทนค่าดัชนีความร้อน 32-41 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดดหากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

สีส้ม หมายถึง ระดับอันตราย แทนค่าดัชนีความร้อน 41-54 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) ได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน 

และสีแดง หมายถึง ระดับอันตรายมาก แทนค่าดัชนีความร้อน มากกว่า 54 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ จะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) โดยมีอาการตัวร้อน เวียนศีรษะ หน้ามืด ซึมลง ระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตได้หากสัมผัสความร้อนติดต่อกันหลายวัน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากสถิติในปี 59 สถานการณ์ความร้อนในจังหวัดที่อุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียล ติดต่อกัน 20 วันขึ้นไป 

พบว่า มีทั้งสิ้น 12 จังหวัด บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สุโขทัย ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ ลพบุรี และหนองคาย 

ซึ่งในปี 66 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า จะเป็นปีที่มีอากาศร้อนกว่าปีที่ผ่านๆ มา ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์ความร้อนที่จะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้