“เศรษฐา” แถลงนโยบายรัฐบาล ย้ำ ไม่แก้ไขรัฐธรมนูญในหมวดสถาบัน

“เศรษฐา” แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมสภา ย้ำ ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสถาบัน เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 1 หมื่น

หลังโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ซึ่งที่ประชุมโหวตรับรองนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากนั้น 11 พรรคร่วมรัฐบาลฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี รัฐบาลเศรษฐา 1 และได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในการเข้ารับตำแหน่งแล้วนั้น

วันนี้ (11 ก.ย.66) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อพิจารณาเรื่องเร่งด่วน “คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งเป็นการแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการตามอำนาจ

จากนั้นเวลา 09.40 – 10.40 น.  หรือประมาณ 1 ชั่วโมง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมสภา ว่า วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งวิกฤตโควิด-19, ลักษณะของภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลง, การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์, หนี้สินครัวเรือน, สภาพอากาศสุดขั้ว, การเผชิญเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์, ความแตกแยกในสังคม และกฎหมายที่ล้าสมัย ทำให้ประเทศไทยเกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่จะรักษาไว้ซึ่งสถาบัน

สำหรับนโยบายระยะสั้น จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ นำไปสู่การจ้างงานสร้างอาชีพ โดยรัฐบาลจะได้ผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบภาษี และการเตรียมพร้อมประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่

ในขณะเดียวกันจะดำเนินการนโยบายพักหนี้เกษตรกร และแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาคครัวเรือน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผลักดันการท่องเที่ยว ผลักดันการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างตามรัฐธรรมนูญโดยไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยจะจัดทำรูปแบบการแก้ไขให้ทุกคนมีส่วนร่วมและหาแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภาเพื่อให้ประเทศไทยเดินไปได้อย่างมั่นคง

ส่วนนโยบายระยะยาว รัฐบาลมีนโนบายที่จะสร้างรายได้ผ่านการทูตเชิงรุก ผ่านการเจรจาการค้า ยกระดับหนังสือเดินทางไทย, ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัลและยกการแข่งขันเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนสตาร์ทอัพ และพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน นำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มรายได้ในภาคเกษตร ปศุสัตว์ และประมง เป็นการสร้างรายได้ทำให้คนไทยมีเงินเดือนและรายได้ที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ยังจะขยายโอกาสให้คนไทย โดยเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน ส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าและไม้ยืนต้นในที่ดิน, ยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น เปลี่ยนเป็นรัฐสนับสนุน อาทิ ปลดล็อกเรื่องสุราพื้นบ้าน, บริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ, เปิดรับแรงงานและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ, สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ สนับสนุน 1 ครอบครัว 1 ทักษะ, ปฏิรูปการศึกษาสร้างสังคมการเรียบรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาครูดูแลนักเรียนทั้งสุขภาพกายและใจ

ขณะที่นโยบายการสร้างคุณภาพชีวิต ได้แก่ การปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงให้เหมาะสมกับยุคสมัย, เปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ลดกำลังพลนายทหารระดับสูง ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างในกระทรวงกลาโหมให้ตรวจสอบได้ นำพื้นที่ของหน่วยทหารมาใช้ประโยชน์แก่ประชาชน เช่น การเกษตร, ปราบปรามผู้มีอิทธิพล ปราบปรามยาเสพติด, ดูแลสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5, พัฒนาระบบสาธารณสุขยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค, ดูแลคนทุกกลุ่มด้วยสวัสดิการแห่งรัฐ และผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียม

ทั้งนี้หลังนายเศรษฐา แถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จ ประธานสภาได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมสภาอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อที่ประชุมสภา โดยการประชุมสภานี้จะมีขึ้น 2 วัน คือวันที่ 11-12 ก.ย.66 รวมเวลาในการประชุม 30 ชั่วโมง ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการตามอำนาจได้อย่างสมบูรณ์ และมีการประชุม ครม.นัดแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 ก.ย.66

คลิปอีจันแนะนำ
เปิดนโยบายเศรฐกิจ พรรคเพื่อไทย กับ เศรษฐา ทวีสิน