ชัชชาติ สั่งเฝ้าระวัง 3 โรคติดต่อในโรงเรียน รักษาไม่ทันอันตรายถึงชีวิต

กทม.วุ่น! ‘ชัชชาติ’ สั่งเฝ้าระวัง 3 โรคติดต่อในโรงเรียน รักษาไม่ทันอันตรายถึงชีวิต อึ้ง! คนกรุงป่วยไข้เลือดออกแล้ว 4,265 ราย หรือ 77.62% ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 4 ราย

ฤดูฝน เป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดได้ง่าย เพราะมีน้ำเป็นแหล่งเพาะและแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นในตัวน้ำฝนเอง ละอองต่างๆ ที่ปลิวมากับลมฝน รวมถึงน้ำท่วมขังก็อาจมีเชื้อโรคต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคปนเปื้อนอยู่

ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า ปัจจุบันพบโรคมือ เท้า ปากเพิ่มจากปีที่แล้ว 5 เท่า ส่วนใหญ่พบในศูนย์เด็กเล็กและในเด็กชั้นอนุบาลอายุไม่เกิน 5 ขวบ แนวทางป้องกัน คือ การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ห้องน้ำ และบริเวณที่เด็กเล็กเล่นด้วยกัน

ส่วนอาการของโรคมือ เท้า ปาก ที่พบคือ มีไข้ขึ้น 3 วัน จากนั้นมีตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในช่องปาก ทำให้รับประทานอาหารน้อยลง เป็นอันตรายต่อผู้ที่มีภูมิต้านทานน้อย โดยโรคดังกล่าวมีโอกาสเสียชีวิตได้แต่ยังพบไม่มาก ในปี 2566 ยังไม่พบผู้เสียชีวิต

กรณีเป็นโรคดังกล่าว เบื้องต้นสามารถดูแลตนเองได้ด้วยการรับประทานยาลดไข้ ใช้เวลา 5-7 วันอาการจะดีขึ้น แต่ควรระวังเพราะเป็นโรคติดต่อง่ายจากการสัมผัส สำหรับในโรงเรียนมีเกณฑ์กำหนดว่าหากพบเด็กติดโรคตามเกณฑ์ต้องปิดห้องเรียน หากพบหลายห้องให้ปิดชั้นเรียน เป็นต้น สามารถใช้ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำเพื่อลดโรคดังกล่าวได้ หรืออย่างน้อยทำความสะอาดพื้นที่อาศัยวันละ 1 ครั้ง

อีกโรคคือ ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ พบมากในเด็กที่เล่นคลุกคลีด้วยกัน ผู้ปกครองเด็กควรหมั่นสังเกตบุตรหลานหากมีอาการไอ จาม ควรให้เด็กหยุดพักอยู่ที่บ้าน หรือหากคุณครูพบเด็กมีอาการไอ จาม ควรแยกนักเรียนออก เพื่อป้องกันการติดต่อ ทั้งนี้ หากเป็นเด็กเล็กที่ไม่ได้รับการรักษาทันถ่วงทีจะมีอันตรายมาก

นอกจากนี้ ยังมีโรคไข้เลือดออก เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกจึงทำให้พบโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงได้ประสานงานกับสำนักงานเขตและสำนักการศึกษาเพื่อช่วยกันกำจัดแหล่งกำเนิดลูกน้ำยุงลาย อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เตรียมการเฝ้าระวังทั้ง 3 โรคอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในโรงเรียน

สำหรับข้อมูลด้านโรคไข้เลือดออก ล่าสุดมีผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ กทม. 4,265 ราย อัตราป่วย 77.62 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 4 ราย ขณะที่ภาพรวมผู้ป่วยสะสมทั้งประเทศ 59,372 ราย อัตราป่วย 89.83 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 49 ราย โดยกลุ่มผู้ป่วยตามช่วงอายุ 5-14 ปี ซึ่งพบมากสุดอยู่ที่ ร้อยละ 175.25 รองลงมา ช่วงอายุ 15-34 ปี อยู่ที่ร้อยละ 128.95

ส่วนแขวงที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ชนะสงคราม เขตพระนคร ร้อยละ 117.30 รองลงมา แขวงจันเกษม เขตจตุจักร 73.93 และแขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง 65.36