
หลังจากเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.66) ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส.500 คน และ ส.ว. 249 คน เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยที่ประชุมมีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงชื่อเดียว แต่ผลการโหวตรับรอง พบว่า นายพิธา ได้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วม หรือ 375 เสียง ทำให้ไม่ได้รับรองให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ผลโหวตพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย ยังไม่ผ่าน ด่าน ส.ว.ทำให้วันนี้ (14 ก.ค.66) พรรคก้าวไกล เข้ายื่นร่างกฎหมายแก้ไข มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล บอกเหตุผลที่มายื่นร่างกฎหมายแก้ไข มาตรา 272 สืบเนื่องจากการเลือกนายกฯ เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.66) ส.ว.จำนวนมากได้งดออกเสียง เเสดงออกชัดเจน ว่า ไม่ประสงค์ใช้สิทธิ ดังนั้น เมื่อ ส.ว. ต้องการเเบบนี้ ก็จะนำไปสู่ทางตันของการเมือง ก้าวไกลจึงเสนอทางออกเพื่อให้การเมืองไทยเดินหน้าต่อไปได้

ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ระบุถึง มาตรา 272 ไว้ว่า มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลันและในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

การที่จะปิดสวิตซ์ ส.ว.ไม่ให้มีอำนาจร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ตาม ม.272 และทำให้กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี เหลือพียงขั้นตอนตาม ม.159 ซึ่งจะทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเหลือเพียงเสียงข้างมากจาก ส.ส.นั้น ต้องดำเนินการตามขั้นตอนคือ ยื่นเรื่องต่อสภาให้ได้รับความเห็นชอบและมีมติเสียงข้างมากในการเห็นชอบให้แก้ไข
ขออธิบายแบบยาวดังนี้
รัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 256 กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย
– คณะรัฐมนตรี
– ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่สภาผู้แทนฯ หรือ ส.ส. 100 คน จากสภาผู้แทนฯ 500 คน
– ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ ส.ส. รวมกับ ส.ว. 150 คน จากรัฐสภา 750 คน
– ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน
เมื่อคนที่มีสิทธิตามที่กล่าวข้างต้นได้ยื่นเรื่องแล้ว ต่อไปก็เข้าสู่ขั้นตอนการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนี้
-ต้องได้เสียงของรัฐสภา คือ ส.ส.และ ส.ว. เกินกึ่งหนึ่ง 376 เสียง
-ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน จากจำนวน ส.ว.ทั้งหมด 250 คน เห็นชอบ
-ต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน อย่างน้อยร้อยละ 20
คงต้องติดตามกันต่อว่า การยืนเรื่องแก้ไข ม.272 ของพรรคก้าวไกล จะดำเนินการได้สำเร็จหรือไม่
อ้างอิงที่มา :
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF
https://plus.thairath.co.th/topic/spark/101064