
สิ้นสุดรอคอยของใครหลายคน สำหรับ “ค่าทำฟัน” ด้วยสิทธิประกันสังคม ล่าสุดมีแนวโน้มเพิ่มสิทธิรักษาจากเดิมแล้ว

(15 ก.ค. 68) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ เปิดเผยว่า คณะกรรมการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (บอร์ดแพทย์ สปส.) โดย นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เป็นประธานการประชุมพิจารณาสิทธิการรักษาทางทันตกรรม มีมติเห็นชอบปรับสิทธิประโยชน์ทันตกรรมประกันสังคม โดยแยกสิทธิค่าผ่าฟันคุดออกจากสิทธิทันตกรรมปีละ 900 บาท และจ่ายให้สูงสุด 2,500 บาท และพร้อมเพิ่มสิทธิทำฟันจากเดิม 900 บาท เป็นตามจ่ายจริง ดังนี้
อัตราการจ่ายค่าผ่าฟันคุด 2 กรณี
- ผ่าฟันคุดแบบง่าย จ่ายตามอัตรากรมบัญชีกลาง 1,500 บาท
- ผ่าฟันคุดแบบยาก มีการกรอกระดูกด้วย จ่าย 2,500 บาท

เพิ่มสิทธิค่ารักษาทันตกรรมประกันสังคม จากเดิม 900 บาท เป็นจ่ายตามจริง
1. ตรวจ, อุดฟัน, ขูดหินปูน, ถอนฟัน
ตรวจสุขภาพช่องปาก และบันทึกข้อมูลสุขภาพช่องปากส่งประกันสังคม
2. หากเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลรัฐ
จ่ายตามจริงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
3. ผ่าฟันคุด
จ่ายไม่เกิน 1,500 บาท/ซี่
กรณีเพิ่มการกรอกระดูกและฟัน จ่ายไม่เกิน 2,500 บาท/ซี่
4. รากฟันเทียม
ค่าผ่าตัด 17,500/ราย
ค่าติดตามรักษาปีละ 700 บาท/ราย
ค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 3,000 บาท
5. เพิ่มวงเงินฟันเทียมถอดได้บางส่วน-ถอดได้ทั้งปาก สูงสุด 6,000 บาท

นพ.สุรเดช กล่าวว่า สำหรับสิทธิ์ทันตกรรมอัตรา 900 บาทต่อปี มีการพิจารณาว่า หากผู้ประกันตน มีความจำเป็นต้องรักษาทางทันตกรรม และค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้ ถ้าเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ สำนักงานประกันสังคมก็จะตามไปจ่ายค่ารักษาดังกล่าวให้โดยไม่ได้กำหนดเพดานเอาไว้ว่าต้องไม่เกินเท่าไหร่ เพราะเราจะจ่ายให้ตามเรทค่ารักษาของโรงพยาบาลรัฐ แต่หากเป็นเอกชน เรายังจ่ายให้ในอัตรา 900 บาท ส่วนที่เกินจากนี้ ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเอง
ทั้งนี้ มาตรการปรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ภายในเดือนสิงหาคม 2568 นี้
นับเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ที่จะลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตตัวเองในระยะยาวได้
ขอบคุณข้อมูล : รายการเรื่องเล่าเช้านี้