
คอลัมน์ : ห้อยหัววิเคราะห์ข่าว
ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดักการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ ส่งผลต่อประเทศที่ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมและส่งออก
ประเทศไทยที่ยังวนเวียนอยู่กับปัญหาการเมือง การแย่งชิงอำนาจรัฐโดยไม่เห็นประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง และรัฐบาลที่ยังคงขาดผู้นำที่มีศักยภาพในขณะนี้ มีผลให้การเดินทางของประเทศไร้ทิศทางและปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด สำรวจจากนิด้าโพลชี้ว่าประชาชนต้องการให้นายกแพทองธารลาออกมากถึง 42.37% ในขณะที่ 39.92% เห็นว่านายกควรยุบสภา
ปัจจัยการเมืองมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังที่สุดอาเซียนในแง่ของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และการลดปัญหาคอรับชันที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านการปฏิรูประบบการเมืองและข้าราชการ
S&P Global Ratings ชี้ว่าสภาวะการเมืองไทยที่ตอนนี้ไม่นิ่งและไม่มีเสถียรภาพ และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับปรุงอันดับเครดิตของประเทศ นอกจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถ่วงตัวชี้วัดด้านเครดิตที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจะสามารถลดแรงกดดันเหล่านี้ได้ถ้ารัฐบาลสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันสถานการณ์
Kim Eng Tan กรรมการผู้จัดการฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ S&P Global Ratings ได้กล่าวในงาน Thailand Credit Spotlight 2025 ว่า S&P Global Ratings ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า S&P ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือไว้ที่มีเสถียรภาพ หรือ Stable Outlook อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองยืดเยื้อออกไปเป็นเวลานานก็อาจถึงจุดที่ปัจจัยทางการเมืองนี้จะฉุดรั้งอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศให้ลดลงได้
นอกจากนี้ ถ้าสหรัฐอเมริกามีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศไทยในอัตราปัจจุบันที่ 36% ที่ประกาศไปเมื่อเร็วๆ นี้ S&P ก็อาจปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะถ้าเทียบกับประเทศคู่แข่งที่ได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม S&P ประเมินว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เองไม่น่าจะส่งผลโดยตรงที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากตัวชี้วัดโดยรวมของประเทศไทยยังมีความยืดหยุ่นสูงอยู่

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา S&P ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยที่จะโตได้ 2.3% ในปีนี้ และขยายตัวได้ 2.6% ในปี 2569 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะต้องมีการปรับโครงสร้างอย่างเร่งด่วน
S&P ชี้ว่า มีบางประเทศในภูมิภาคมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยที่เกื้อหนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้แก่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และสมาร์ทโฟน สำหรับบ้านเราแล้ว ถึงแม้จะมีการส่งออกอุปกรณ์โทรคมนาคมจำนวนหนึ่ง รวมถึงโทรศัพท์มือถือ แต่การส่งออกส่วนใหญ่ยังคงเป็นฮาร์ดดิสต์ไดร์ฟที่ความต้องการในอนาคตจะไม่แข็งแกร่งแล้ว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเผชิญแรงกดดันจากความสามารถการแข่งขันด้านราคาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ปัจจัยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองยังไม่สามารถดึงดูดการส่งออกที่มีมูลค่าสูงได้เท่ากับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควรจะเป็น โดยโครงสร้างการส่งออกของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากนัก แตกต่างจากเวียตนามที่อาจจะส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยโครงสร้างการส่งออกของเวียตนามมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เวียตนามสามารถส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้มากยิ่งขึ้น
รัฐบาลเวียตนามมีความกระตือรือร้นอย่างมากกับการยกระดับประเทศขึ้นไปในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเวียดนามได้ให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งผลักดันเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
สำหรับประเทศไทยแล้ว รัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มากยิ่งขึ้นในการวางแผนระยะยาวที่ยกระดับอุตสาหกรรมและการส่งออกของประเทศ ที่สำคัญกว่านั้นคือการนำแผนที่วางไว้ไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้เขียน : ดร.ขวัญชัย รุ่งฟ้าไพศาล อดีตบรรณาธิการ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี