รัฐบาลจมปลักอยู่กับปัญหาการเมือง จนละเลยปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง

คลิปเสียงนายกฯอิ๊งค์คุยกับอังเคิลฮุนเซน ทำเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นทางการเมืองสั่นคลอน ในขณะที่สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจปากท้องของคนไทยก็ยังมีปัญหา จากนี้เราจะไปต่อกันแบบไหน

คอลัมน์ : ห้อยหัววิเคราะห์ข่าว

ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ (1 กรกฎาคม 2568) ได้สั่ง “แพทองธาร” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งรับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 36 คน กรณีคลิปเสียง “ฮุน เซน” หากแต่รัฐบาลยืนยันที่จะบริหารประเทศต่อไปด้วยการ “ไม่ยุบ” และ “ไม่ลาออก” แต่ถึงแม้รัฐบาลจะประคองรัฐนาวาไปได้ แต่ขวากหนามและความท้าทายมากมายก็ยังคงรออยู่ข้างหน้าที่ต้องการรัฐบาลที่มีศักยภาพเข้ามาแก้ปัญหา

นอกจากปัญหาทางด้านการเมืองและความมั่นคงแล้ว ยังมีหลากหลายความท้าทายทางเศรษฐกิจรออยู่ข้างหน้ารัฐบาลแพทองธาร เป็นปัญหาปากท้องของประชาชนที่ต้องการการแก้ไขที่ตรงจุดโดยด่วน แต่เท่าที่อยู่มา 2 ปี รัฐบาลยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลายๆ นโยบายเศรษฐกิจที่ได้ประกาศออกไปในช่วงหาเสียงเลือกตั้งกลับประสบความล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่แจกเงิน 10,000 บาทให้แก่ประชาชน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำให้แก่ผู้จบการศึกษาใหม่ นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย การพยุงราคาพืชผลทางการเกษตร และนโยบายลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำและค่าไฟฟ้า เป็นต้น

ความล้มเหลวของรัฐบาลแพทองธารในนโยบายด้านเศรษฐกิจถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกละเลยโดยรัฐบาลแพทองธาร ที่หันไปเน้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งชามข้าวและผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองและพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองมากกว่าจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางและกลุ่มรากหญ้า ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้ความไว้วางใจของประชาชนในรัฐบาลปัจจุบันลดต่ำลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โฉมหน้าของรัฐบาลแพทองธาร โดยเฉพาะในทีมเศรษฐกิจ จึงมีแต่หน้าตาของนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แทนที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่รู้จริงด้านด้านเศรษฐกิจที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยรวม

การปรับทีม ครม. ของรัฐบาลแพทองธาร จึงได้สร้างข้อสงสัยมากมายในหัวใจของประชาชน ว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปท่ามกลางวิกฤตการณ์และปัญหาโครงสร้างต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้รัฐบาลแพทองธาร 1 ที่บริหารประเทศได้เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจไทยที่โตรั้งท้ายสุดในอาเซียน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดจีดีพีประเทศไทยโต 2.9% ในครึ่งปีแรก แต่จะลดลงเหลือโตเพียง 1.7% ในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้คาดการณ์การเติบโตของจีดีพีทั้งปี 2568 อยู่ที่ 2.3%

ปัจจุบันประเทศไทยยังมีหนี้สาธารณะ (หนี้ที่รัฐก่อ) ที่ประมาณ 12 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 64.8% ของจีดีพี และมีเปอร์เซ็นต์สูงเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ลาว และมาเลเซีย บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของคนไทย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 พบว่าคนไทยเป็นหนี้สูงถึง 16.2 ล้านล้านบาท ในปี 2567 ซึ่งใหญ่เกือบเท่าจีดีพีของประเทศ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของเอสเอ็มอีไทยที่ทยอยเจ๊งไปแล้วกว่า 4,000 ธุรกิจในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 นี้ ส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับปัญหาการว่างงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ชี้ถึงตัวเลขการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาที่มีโอกาสที่จะตกงานสูง โดยจำนวนผู้ที่ว่างงานในไทยสูงถึง 68,000 คนในไตรมาสแรกของปี 2568 และเป็นเด็กจบใหม่ถึง 69.8%

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในระบบการผลิตแบบดั้งเดิมที่เน้นต้นทุนต่ำและขาดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีและปรับปรุงเชิงโครงสร้างมาเป็นระยะเวลานาน ไม่มีข้อแตกต่าง ทำให้สินค้าขาดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ รัฐบาลไทยยังอยู่ระหว่างรอเจรจาทางการค้าและภาษีต่างตอบแทนกับประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งหากต้องเสียภาษีในอัตราที่แพงกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ ประเทศไทยอาจสูญเสียอำนาจในการแข่งขันให้กับประเทศนั้นๆ ในการส่งออกสินค้าก็เป็นได้

การบริหารประเทศที่ยังไม่เห็นผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรมทำให้ความเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีแพทองธารและทีมรัฐบาลลดลง รวมถึงเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากกรณีคลิปเสียงกับสมเด็จ ฮุน เซน ประธานรัฐสภากัมพูชา

โดยสวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจดัชนีการเมืองไทย ประชาชนเชื่อมั่นต่ำสุดในรอบ 18 เดือน โดยผลสำรวจดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2568 ได้กระทำกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,114 คน เป็นการสำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม ระหว่างวันที่ 23-27 มิถุนายน ตัวชีวัดแต่ละตัวจะมีคะแนนต่ำสุดที่ 0 และสูงสุดที่คะแนนเต็ม 10 สรุปผลสำรวจพบว่า ประชาชนให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนมิถุนายนที่ 4.13 คะแนน ลดลงจากเดือนพฤษภาคมที่ได้ 4.70 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุดคือผลงานของฝ่ายค้านที่ได้ 5.15 คะแนน ในขณะที่ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุดได้แก่การแก้ปัญหาความยากจนและราคาสินค้าที่ได้เท่ากันที่ 3.92 คะแนน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือนมิถุนายนได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร ที่ร้อยละ 23.04 ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือนมิถุนายน ได้แก่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ที่ร้อยละ 48.72 ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบประจำเดือนมิถุนายนคือ การขึ้นค่าแรง 400 บาท ที่รอยละ 41.12 และผลงานฝ่ายค้านที่ประชาชนชื่นชอบได้แก่ การตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล ที่ร้อยละ 44.84

ในขณะที่ผลสำรวจจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพล พบว่า น.ส. แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ตกไปอยู่อันดับที่ 5 (ร้อยละ 9.20) ของบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ในขณะที่อันดับที่ 1 (ร้อยละ 31.48) เป็นของ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อันดับที่ 2 (ร้อยละ 19.88) ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับที่ 3 (ร้อยละ 12.72) เป็นของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัจจุบันได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นองคมนตรี และอันดับที่ 4 (ร้อยละ 9.64) เป็นของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยผลสำรวจเรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 2-2568” ได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-25 มิถุนายน 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,500 หน่วยตัวอย่าง

จากปรากฎการณ์ข้างต้น จึงดูเหมือนว่ารัฐบาลพยายามเอาตัวรอดโดยยึดเอาผลประโยชน์ส่วนตนและเกลี่ยผลประโยชน์ให้กับพรรคร่วม เอาประเทศเป็นเดิมพันโดยไม่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา นายกรัฐมนตรีขาดทั้งแรงสนับสนุนจากประชาชน และเสียงที่ปริ่มน้ำในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน รัฐบาลขาดเสถียรภาพและไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่สามารถนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ น่าจะถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่รัฐบาลต้องยอมรับความจริงเพื่อไม่ให้ประเทศชาติต้องเสียหายไปมากกว่านี้

ผู้เขียน : ดร.ขวัญชัย รุ่งฟ้าไพศาล อดีตบรรณาธิการ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี