
คอลัมน์ : ห้อยหัววิเคราะห์ข่าว
รัฐบาลไทยต้องเผชิญความยากลำบากในสงครามการค้ารอบใหม่ที่กำหนดโดยประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยได้ส่งจดหมายไปแล้ว 14 ประเทศในรอบแรกเพื่อยืนยันอัตราภาษีใหม่ สำหรับไทยแล้ว อัตราภาษีสำหรับทุกสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 36% มีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2568
อัตราภาษีดังกล่าวถือเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) ที่ได้คาดการณ์โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ โดยมองว่าหากไทยโดนเก็บภาษีที่ 36% จีดีพีของประเทศไทยจะลดลงเหลือเพียง 1.3%-2.3% ในปี 2568 นี้ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยมีสัดส่วนถึงประมาณ 20% ของส่งออกทั้งหมดของประเทศ
ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยได้แก่ประเทศเวียดนามได้บรรลุข้อตกลงการเจรจากับผู้แทนจากสหรัฐฯ แล้ว โดยเวียดนามจะต้องเสียภาษีในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ที่ 20% และ 40% สำหรับสินค้าสวมสิทธิ์ ในขณะที่หลายๆ ประเทศในเอเชียและอาเซียนก็โดนอัตราภาษีใหม่ด้วยกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่นที่ 25% เกาหลีใต้ที่ 25% มาเลเซียที่ 25% อินโดนีเซียที่ 32% บังลาเทศที่ 35% กัมพูชาที่ 36% เมียนมาร์ที่ 40% และลาวที่ 40% เป็นต้น

จดหมายจากทรัมป์ที่กำหนดอัตราภาษีใหม่ส่งมาถึงประเทศไทยในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ ไม่กี่วันหลังจากที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าเจรจากับทางสหรัฐฯ และออกมาให้สัมภาษณ์ว่าผลการเจรจาเป็นที่น่าพอใจและ Win-Win กันทั้งสองฝ่าย โดยทางสหรัฐฯ ได้ขอให้ส่งข้อเสนอเพิ่มเติม ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมให้กับสหรัฐฯ และการซื้อพลังงานและเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มขึ้น รวมถึงการลดการเกินดุลกับประเทศสหรัฐฯ ลง 70% จาก 46,000 ล้าน US Dollar ภายใน 5 ปี และทำให้ดุลการค้าสมดุลภายใน 7-8 ปี
ที่น่าสนใจก็คือประเทศไทยจะเดินไปในเส้นทางใดท่ามกลางอุปสรรคขวากหนามมากมายในสงครามการค้าโลกนี้ เราจะโอนอ่อนผ่อนตามให้กับสหรัฐฯ เป็นเด็กดีของประเทศที่มีตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก หรือหาช่องทางการค้าอื่นๆ เพื่อชดเชยรายได้การส่งออกที่ขาดหายไป ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป อเมริกาใต้ หรือตลาดในอาเซียนด้วยกันเอง ทั้งนี้ หลายๆ ประเทศได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มการค้า หรือ Trade Blocs เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการรับแรงกระแทกจากอัตราภาษีใหม่และเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับอุตสาหกรรมการส่งออกและอุตสาหกรรมการผลิต และอาจนำไปสู่การปรับตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการลดกำลังการผลิต การปลดพนักงาน เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอำนาจการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น เวียตนาม ที่ได้เปรียบทั้งในแง่ของภาษีส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ และต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นด้านค่าแรงงานและค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าไฟ เป็นต้น
นโยบายภาษีของทรัมป์เป็นหนึ่งในฉากทัศน์ที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคตที่การค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง และต้องการการปรับตัวตลอดเวลา การเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไทยเราจะฝ่าฟันอุปสรรคทางการค้าเหล่านี้ไปได้โดยขาดการปรับตัวและพัฒนา ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเน้นย้ำและให้ความสำคัญ

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เร็วๆ นี้ ได้กล่าวในปาฐกถาพิเศษในงาน ‘Elite Plus Magazine 11th Anniversary Gala Celebration’ โดยเน้นว่าคนไทยยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ กับดักรายได้ปานกลาง และปัจจัยเปลี่ยนแปลงสำคัญ 4 ประการ อันได้แก่
1) การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่จะเน้นย้ำบทบาทสำคัญในอนาคต 2) เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI 3) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ที่เน้นย้ำถึงความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนของโลกที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงอิทธิพลของบุคคลสำคัญ เช่น ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อสังคมที่มีกฎเกณฑ์ และ 4) การโยกย้ายของห่วงโซ่อุปทานและการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization)
ชาติศิริเน้นย้ำว่า เรากำลังอาศัยอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่การคาดการณ์อนาคตทำได้ยากขึ้น เขาเรียกร้องให้คนไทยมีความอดทนและเข้มแข็งในการเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้ โดยยอมรับว่า “การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของคน” อย่างไรก็ตาม เขาได้แสดงความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่สำคัญด้านการค้าและวัฒนธรรม ไม่เพียงแต่ภายในอาเซียนเท่านั้น แต่ในระดับโลก
ชาติศิริสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งเดียวที่มั่นคง การหวังว่าทุกอย่างจะคงอยู่เหมือนเดิมจะไม่เป็นผลอีกต่อไป จงยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ การรู้จักและมองเห็นการเปลี่ยนแปลงจะไม่ช่วยอะไรเว้นเสียแต่คุณเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองโดยเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต
ผู้เขียน : ดร.ขวัญชัย รุ่งฟ้าไพศาล อดีตบรรณาธิการ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี