การเมืองถือฤกษ์ วันสยบราหู โหวตนายกฯรอบใหม่-ทักษิณแลนดิ้ง วันมหาเสน่ห์

การเมืองระทึกไม่เลิก! ถือฤกษ์งามยามดี วันสยบราหู 18 ส.ค.66 โหวตนายกฯรอบใหม่-‘ทักษิณ’ แลนดิ้งไทย วันมหาเสน่ห์ 22 ส.ค.66

การเมืองยังอยู่ในช่วงลุ้นระทึก ซึ่งข้อมูลจาก รายการเจาะลึกทั่วไทย เช้าวันนี้ (14 ส.ค.66) ระบุว่า เบื้องต้นกำหนดวันโหวตนายกรัฐมนตรี รอบใหม่ในวันที่ 18 ส.ค.66 ทางโหราศาสตร์ เรียกว่า เป็นวันสยบราหู โดยวันนั้นจะก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะราหูจะถูกสะกด

ขณะเดียวกัน วันที่ 22 ส.ค.66 รายงานข่าวแจ้งว่า เป็นวันที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทย โดยวันนั้นในทางโหราศาสตร์ เรียกว่า เป็นวันมหาเสน่ห์ มีมนต์ขลังและมหานิยม และวันนั้นจะเป็นวันแห่งการสร้างความปรองดอง

จากเดิมที่ นายทักษิณ มีกำหนดกลับในวันที่ 31 ก.ค.66 และขยับเป็นวันที่ 7 ส.ค. จากนั้นขยับเป็นวันที่ 10 ส.ค. และวันที่ 22 ส.ค.66 ซึ่งนี่เป็นข่าวจาก รปภ.ของนายทักษิณ ข่าวจากฝ่ายความมั่นคงที่ดูแลการเดินทางกลับบ้านเที่ยวนี้ของนายทักษิณ หากจะปรับเปลี่ยนก็มาจากปัจจัยทางการเมือง เช่น การคุยกับฝั่งอำนาจเก่าไม่เรียบร้อย เป็นปัจจัยทำให้ตารางเวลาเดินทางกลับยังไม่นิ่ง จึงอาจจะมีการขยับอีก แต่ในภาพรวมตอนนี้นิ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่จับตามองในวันที่ 16 ส.ค.66 ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า จะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะถ้ายกคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินก็จบ และหากรับคำร้องไว้พิจารณาก็ต้องระทึกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งต่อเนื่อง เป็นคำสั่งที่ 2 หรือไม่ ดังนั้น ระหว่างรออาจจะมีการเลื่อนการโหวตออกไปก่อน

ซึ่งทิศทางชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมีการยกคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งผู้ตรวจไม่ได้ร้องเอง มีคนร้องไปผู้ตรวจอีกครั้งหนึ่ง และผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ร้องต่อไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยประเด็นที่ร้องคือมติรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค.66 โหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในวันนั้น

เบรกการเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมตรีเป็นครั้งที่ 2 โดยอ้างว่าขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เป็นญัตติซ้ำ ซึ่งผู้ที่ร้องระบุว่า มติรัฐสภาวันนั้น มันเป็นการยกเลิกเพิกถอน เป็นการยกเว้นจากรัฐธรรมนูญ ดังนั้น มติดังกล่าวซึ่งอ้างอิงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

อีกทั้ง ทำไมจึงเชื่อกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง เพราะผู้ที่มีสิทธิ์ร้องต้องเป็นผู้ที่ถูกละเมิดจากมติรัฐสภา โดยผู้ที่เข้าข่ายถูกละเมิดจากมติรัฐสภามีอยู่คนเดียว คือ นายพิธา หาก นายพิธา ไม่ร้อง ผู้อื่นก็ไม่สามารถร้องแทนได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นผู้ถูกละเมิด จากมติรัฐสภาวันนั้น แต่สุดท้ายนายพิธาไม่ได้ยื่น

ดังนั้น บรรดานักนิติศาสตร์ทุกกลุ่ม ฟันธงตรงกันว่า ต้องยกคำร้อง และเมื่อยกคำร้องย่อมไม่มีประเด็น สั่งเลื่อนการโหวตนายกรฐมนตรีออกไปได้

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่า วันที่ฤกษ์งามยามดีของทั้ง 2 วันนี้ จะผนึกกำลังพาการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง ได้โฉมหน้ารัฐบาลใหม่อย่างสวยงาม ดังใจปรารถนาหรือไม่