
คอลัมน์ : ตีลังกาเล่าข่าว โดย กรรณะ
กลายเป็นที่ถกเถียงตลอดช่วงสองวันที่ผ่านมากับท่าทีการเคลื่อนไหวของ “พรรคเส้นด้าย” ที่เดินชนตรงๆกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์” ผู้ว่าฯ กทม.
เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่ผ่านมา หากจะมีใครบางคนได้รับคำชมก็คงหนีไม่พ้นผู้ว่าฯ และทีมงาน ที่ทำงานกันอย่างทันท่วงทีหามรุ่งหามค่ำและทำเชิงรุก

ไม่ว่าจะเป็นประกาศเขตภัยพิบัติในกทม. เพื่อให้ เจ้าหน้าที่สามารถส่งคนไปช่วยประชาชนที่เดือดร้อน การสั่งเปิดสวนสาธารณะรองรับผู้ที่ไม่สามารรถกลับเข้าบ้านได้ การประสานภาคเอกชนอย่างวิศวกรรมสถานให้ส่งวิศวกรไปตรวจสอบตึกให้ หรือการประสาน AirBNB เปิดห้องให้ประชาชนที่ยังไม่มีที่พักได้ใช้อาศัยฟรี

เราเห็นบทบาทของ “ชัชชาติ” ที่ตามงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและติดตามงานโดยเฉพาะในเขตพื้นที่กู้ภัยตึก สตง. ถล่ม เห็นการบัญชาการเหตุการณ์ จึงไม่แปลกที่เขาและทีมงานจะเก็บเกี่ยวเสียงชื่นชมในเวลาวิกฤต
เพราะห้วงเวลาเช่นนี้เป็นนาทีแห่งการแสดงวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ ซึ่ง “ชัชชาติ” สามารถแสดงให้เห็นทำให้คะแนนเขากลับมาหลังจากก่อนหน้านี้มีคนตั้งคำถามถึงการทำงานที่อาจจะไม่สมความคาดหวัง

ซึ่งก่อนหน้าเกิดเหตุเพียง 4 วัน เขาก็เพิ่งประกาศที่จะลงชิงชัยในตำแหน่งนี้อีกสมัยหนึ่ง งานนี้จึงกลายเป็นบททดสอบใหญ่ที่เขาสามารถสอบผ่านไปได้
แต่ในเวลาเดียวกัน กลับเกิดเหตุที่ “พรรคเส้นด้าย” ออกมาโพสต์โจมตีผู้ว่าฯ กทม. โดยเป็นภาพ “ชัชชาติ” นั่งเก้าอี้พลาสติกหน้าซากตึกถล่มและบอกให้หยุดสร้างภาพด้วยการไลฟ์พร้อมโจมตีการทำงานต่างๆ นานา
งานนี้ไม่ต้องถึงมือผู้ว่าฯ หรือทีมงานออกมาตอบโต้ เพราะชาวเน็ตก็ออกมาบอกว่า ทำแบบนี้ได้อย่างไร เอาภาพแค่ภาพเดียวมาแล้วมาโจมตีกันทั้งๆที่ผู้ว่าฯ ทำงานหนักในช่วงนี้
เท่านั้นยังไม่พอ ในการประชุมสภา กทม. ก็ยังมีการปะทะคารม โดย “พีรพล กนกวลัย” สก. ของพรรค ออกมาโจมตี ผู้ว่าฯ กทม. ระหว่างการอภิปรายเรื่องวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยบอกว่า “ท่านต้องดูแลคนไทยให้มากกว่านี้ ท่านไปอยู่ตรงนั้นเขาเสียชีวิตหมดแล้ว แต่คนไทยที่ยังไม่เสียชีวิตต้องหันกลับมาดูแล กลับมาฉีดวัคซีนให้คนที่ยังไม่เสียชีวิต”
ทำให้ “ชัชชาติ” ลุกสวนทันควันว่า “เรายังมีความหวังมีผู้รอดชีวิต ขอความกรุณาอย่าใช้คำพูดว่า ผู้เสียชีวิตหมดแล้ว เพราะยังมีญาติผู้เสียหายที่มีความหวังอยู่”

เท่านี้สังคมก็เห็นชัดเรื่องการให้ความสำคัญของคุณค่าของมนุษย์ พร้อมย้อนถามว่าจะถามเรื่องวัคซีนก็ถามไปทำไมต้องแขวะเรื่องนี้ เหมือนตั้งใจจะโจมตีโดยตรง และแม้ว่าถูกตั้งคำถามกลับอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้และเดินหน้าอ้างว่าการพูดเช่นนี้ของ “ชัชชาติ” เป็นการเบี่ยงประเด็น
ทำให้คนกลับมามองว่า “พรรคเส้นด้าย” คือใครกันแน่ และทำไมถึงทำแบบนี้
ต้องบอกว่าต้นทางแต่แรกเริ่มเดิมทีของพรรคการเมืองนี้ ก็คือ “กลุ่มเส้นด้าย” อาสาสมัครที่เคยช่วยงานและเป็นฮีโร่ช่วงวิกฤตโควิด โดยเฉพาะประสานส่งต่อผู้ป่วยที่นาทีนั้นมีเป็นจำนวนมาก
กลุ่มเส้นด้ายเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564 ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐประสบปัญหาการจัดการสถานการณ์ ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงที
จุดกำเนิดมาจากการเสียชีวิตของ “อัพ” กุลทรัพย์ วัฒนผล อดีตนักกีฬาอีสปอร์ต ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถหารถพยาบาลหรือเข้าถึงการรักษาได้ จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการรวมตัวของกลุ่ม ด้วยแนวคิด “เป็นเส้นให้กับคนที่ไม่มีเส้น”
โดยผู้ก่อตั้งตอนเริ่มต้นคือ “คริส โปตระนันทน์” ทนายความและนักเคลื่อนไหวที่เคยร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ กุลเชษฐ์ วัฒนผล พี่ชายของ “อัพ” รวมถึงบุคคลอื่นๆ เช่น ภูวกร ศรีเนียน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในช่วงเริ่มต้น กลุ่มนี้เริ่มจากทีมเล็กๆ เพียง 3-4 คน แต่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นอาสาสมัครกว่า 200 คนทั่วประเทศ ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการประสานงานส่งต่อไปยังสถานพยาบาล รับส่งผู้ป่วย และต่อมาก็พัฒนาเป็น มูลนิธิเส้นด้าย เพื่อดำเนินงานช่วยเหลือสังคมในระยะยาว รวมถึงการบรรเทาภัยพิบัติ เช่น อุทกภัยในปี 2565
จากนั้นก็ต่อยอดเป็น “พรรคเส้นด้าย” แต่ก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่เป็นการเริ่มใหม่ แต่ภาษาการเมืองเรียกว่า “ซื้อหัวพรรค” โดยเข้าไปเทคโอเวอร์พรรคเดิมที่ใช้ชื่อว่า “พรรคพลเมืองไทย” ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส. และในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ก็มีการจัดประชุมใหญ่พรรคก่อนจะเลือก “คริส โปตระนันทน์” เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคเส้นด้าย” และมี “พีรพล กนกวลัย” อดีตสมาชิกพรรคก้าวไกล เป็นเลขาธิการพรรค
ซึ่ง “คริส” เคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “พรรคอนาคตใหม่” แต่ต่อมาก็เกิดความขัดแย้ง เขาจึงมาลงเล่นการเมืองในนาม “พรรคเส้นด้าย”
พรรคเส้นด้ายเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2566 และลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปในปีเดียวกัน โดย “คริส” ลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 6 กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ซึ่งที่ผ่านมา “พรรคเส้นด้าย” พยายามแสดงตัวและต้องการที่จะปักธงใน กทม. และมีการมองว่าพวกเขาอาจจะส่งคนลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปีหน้าด้วย
ขณะที่ท่าทีในการเคลื่อนไหวของพรรคในครั้งนี้ก็ใช่ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากคนร่วมก่อตั้งกลุ่ม
เช่น “ภูวกร ศรีเนียน” ก็ออกมาบอกว่า กลุ่มเส้นด้าย ตั้งขึ้นมาโดยมีคนหลากหลาย มาร่วมมือกัน ช่วยสังคมช่วงโควิดจนเมื่อปี 2565 โควิด ถูกถอดออกจากโรคร้ายแรง กลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง และ สมาชิกส่วนหนึ่ง ไม่ถึง 20 % ของอาสาทั่วประเทศ ตัดสินใจ ไปตั้งเป็นพรรคการเมือง ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่เกี่ยวกับ ผู้ร่วมก่อตั้ง อีกส่วนหนึ่ง รวมถึง ไม่เกี่ยวกับ สมาชิก อีกส่วนใหญ่ ในทุกจังหวัด
การแสดงความเห็น ของ พรรคเส้นด้าย ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่ใช่ ทัศนคติ ส่วนใหญ่ ของ คนทำงานในนาม กลุ่มเส้นด้าย
นี่เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า “กลุ่มเส้นด้าย” ดั้งเดิม ที่เป็นมดงานช่วง “โควิด” มิได้เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ กับ “พรรคเส้นด้าย”
พร้อมประโยคเด็ด “สุดท้าย ถ้านึกถึง กลุ่มเส้นด้าย ในความทรงจำที่ดี ก็คือการทำงาน ในช่วง วิกฤตโควิด ช่วง เมษายน ปี 64 ถึง กันยายน ปี 65 “
พูดให้ชัดคือ “กลุ่มเส้นด้าย” มันจบไปแล้ว สิ่งที่เป็นอยู่แม้จะชื่อเดียวกัน แต่ก็เปรียบเป็นคนละคน
บอกเลยว่า หากพวกเขาจะหาแสงเพื่อเตรียมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พวกเขาก็ทำสำเร็จแล้ว แต่หากหวังว่าจะใช้แสงนี้เพื่อดึงคะแนนหวังชิงชัยในการเลือกตั้ง ก็บอกได้เลยว่า “จบตั้งแต่ยังไม่เริ่ม” เพราะทุกอย่างมันดูผิดที่ผิดทางไปเสียหมด