ชง กกต. ยกคำร้อง ‘พิธา’ ผิด ม.151 เหตุไม่พบไอทีวี ประกอบกิจการสื่อ

ด่านแรกฉลุย! คณะกรรมการไต่สวน ชง กกต.ยกคำร้องพิธาผิด ม.151 เหตุไม่พบไอทีวี ประกอบกิจการ มีรายได้จากการทำสื่อ

กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น จะมีคณะกรรมการชุดแรกที่คณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ แต่งตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาปมรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มาตรา 151 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งสส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) ซึ่งเป็นคดีอาญามีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

ล่าสุด วานนี้ (14 ส.ค.66) คณะกรรมการไต่สวนชง กกต.ใหญ่ยกคำร้อง ซึ่งเรื่องนี้เปิดเผยโดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้สำนวนการสอบสวนกรณีดังกล่าว สำนวนถูกส่งมายังชั้น สำนักงาน กกต.แล้ว แต่ยังไม่เข้า กกต.ใหญ่ ที่ผ่านมาเป็นการทำงานของคณะกรรมการไต่สวนดำเนินการสืบสวนไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเสนอความเห็นขึ้นมาว่า โดยเห็นควรให้ยกคำร้อง

ซึ่งสำคัญตรงเหตุผล คือ การดำเนินการตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญาที่ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ขณะเปิดรับสมัครเลือกตั้ง สส.ระหว่างวันที่ 4-7 เม.ย.66 ในเวลานั้นไม่พบว่า ไอทีวี มีการประกอบกิจการอยู่ และมีรายได้จากการทำสื่อ จะดำเนินคดีอาญาได้อย่างไร

ดังนั้น คณะกรรมการไต่สวนจึงเสนอมายัง สำนักงาน กกต. แต่ยังไม่ได้เข้า กกต.ใหญ่ โดยจะต้องเสนอไปยังคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งก่อน คือ คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด ก่อนที่จะเสนอให้ กกต.ใหญ่วินิจฉัยถึงจะเป็นสุดท้าย

ซึ่งในส่วนของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยนี้ เมื่อก่อนมีหลายกรณีที่คณะกรรมการไต่สวนชุดแรกบอกไม่มีมูลความผิด แต่พอมาถึงคณะอนุกรรมการวินิจฉัยกลับมี หรือบางทีมีข้อสงสัยดำเนินการสอบเพิ่มเติม โดยเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงก็มี ดังนั้น จึงคาดการณว่า ในกรณีของ นายพิธา น่าจะมีการสอบสวนเพิ่มเติม และน่าจะให้ นายพิธา มาชี้แจงข้อกล่าวหา

หรืออีกกรณีก็อาจจะเป็นไปได้ว่า จะรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่กกต.ยื่นปมเรื่องเดียวกัน คือ ถือหุ้นไอทีวี แต่เป็นการยื่นตามมาตรา 82 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สถานะ สส. ก็คือให้ศาลเป็นคนวินิจฉัยก่อน แล้ว กกต.ค่อยมาตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีอาญาหรือไม่

ทั้งนี้ หากยกกรณี นายพิธา เทียบกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จะพบว่า ตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลง และโดนตัดสิทธิ์เลือกตั้งด้วย แต่พอ กกต.ยื่นดำเนินคดีอาญาแยกออกมาแบบนี้ ปรากฏว่าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ดังนั้น กรณี นายพิธา จึงแบ่งเป็น 2 ตอนเช่นกัน หรือที่เรียกว่าดาบ 1 และดาบ 2

ซึ่งต้องติดตามว่าจะเป็นไปอย่างไร แต่ในส่วนของมาตรา 151 นั้น นี่แค่คณะกรรมการชุดแรกนะคะ ยังเหลืออีกหลายด่าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

การเมืองถือฤกษ์ วันสยบราหู โหวตนายกฯรอบใหม่-ทักษิณแลนดิ้ง วันมหาเสน่ห์แฮชแท็ก รัฐบาลเพื่อไทย ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ อันดับ 1