เปิดประวัติ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 22 ปี บนถนนการเมือง หลังแยกทางเพื่อไทย

เส้นทาง 22 ปี บนถนนการเมือง เต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. หลังประกาศยุติบทบาท ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย

เปิดประวัติ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ย้อนเส้นทาง 22 ปี บนถนนสายการเมือง หลังยุติบทบาท ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย 

สละเรืออีกหนึ่ง สำหรับ เต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นักการเมือง อดีต ส.ส. แกนนำ นปช. และผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยที่ลล่าสุดพึ่งจะประกาศยุติบทบาท ขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางพรรคอีก หลังจับมือร่วมกับ 2 ลุง วันนี้ อีจัน ขอพาไปเปิดประวัติ และย้อนเส้นทางทางการเมืองของเจ้าตัวกัน 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ชื่อเล่น เต้น เกิดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. พ.ศ. 2518 เป็นชาว อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช จบการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัดพระมหาธาตุ และระดับมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ระดับชั้นอุดมศึกษา เต้น จบการศึกษาระดับปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการภาครัฐและเอกชนสำหรับผู้บริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 

ณัฐวุฒิ เริ่มมีชื่อเสียงในวงการของนักพูดโต้วาทีซึ่งเจ้าตัวมีความสามารถและชื่นชอบการพูด บวกกับคาแรกเตอร์ที่ฉะฉาน โผงผาง ทำให้เจ้าตัวได้แชมป์รายการโต้คารมมัธยมศึกษา ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ก่อนจะเข้าสู่วงการนักพูดแบบเต็มตัว โดยเป็นนักอบรมการพูด ทั้งยังเคยเป็นดาราประจำรายการสภาโจ๊ก และรัฐบาลหุ่น ทางสถานีโทรทัศน์ itv 

เต้น ณัฐวุฒิ เริ่มต้นเส้นทางการเมืองจากการเข้าร่วมพรรคชาติพัฒนา และลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 ก่อนจะย้ายเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย โดยร่วมทีมปราศรัยล่วงหน้าของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะทำงานโฆษกพรรค จากนั้นเจ้าตัวได้รับการคัดเลือกจากพรรคให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ผลคือ เต้น ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ทันไรก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายนขึ้นเสียก่อน 

หลังเหตุการณ์ยึดอำนาจในครั้งนั้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ปรับเปลี่ยนบทบาทของตนกลายเป็นแกนนำนักเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับ วีระ มุสิกพงศ์ และ จตุพร พรหมพันธุ์ แถลงข่าวต่อต้านการทำรัฐประหาร ต่อมาช่วงต้นปี พ.ศ. 2550 สถานีโทรทัศน์พีทีวีถูกปิดกั้นสัญญาณดาวเทียม จนไม่สามารถออกอากาศได้ ผู้บริหารและผู้จัดรายการจึงออกมาปราศรัยที่ท้องสนามหลวง จนกระทั่งได้ร่วมมือกับหลายองค์กรประชาธิปไตยภาคประชาชน จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรหลักภายใต้ชื่อ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ในเวลาต่อมา ซึ่ง ณัฐวุฒิ มีบทบาทเป็นแกนนำคนหนึ่ง ที่ขึ้นปราศรัยต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ภายหลังรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ สิ้นสุดลง นปก. ได้มีการเปลี่ยนชื่อองค์กรใหม่เป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่ง ณัฐวุฒิ ยังเป็นแกนนำอยู่ตามเดิม 

ในปี พ.ศ. 2550 ณัฐวุฒิ กลับเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ระบบสัดส่วน พื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ นายสมัคร สุนทรเวช ก่อนขยับขึ้นเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 

ถัดมาในปี พ.ศ. 2554 ณัฐวุฒิ ยังคงยืนหยัดทำงานร่วมกับตระกูลชินวัตรและเหล่าสมาชิกพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน ถึงแม้จะถูกยุบไป ก่อนได้รับเลือกตั้งเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ ภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทยพร้อมกับรับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เส้นทางการเมืองของเจ้าตัวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ. 2555 ภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจ้าตัวได้ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ รมช.พาณิชย์ ก่อนที่รัฐบาลของนายกฯ ปู จะโดนยึดอำนาจโดย พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา ทำให้เจ้าตัวหายหน้าหายตาไปช่วงหนึ่ง 

ในปี พ.ศ. 2557 ณัฐวุฒิ คัมแบ็กสู้สนามการเมืองอีกครั้ง โดยเข้าร่วมสังกัดพรรคไทยรักษาชาติแต่เส้นทางนี้ของเขาก็ไม่ยืดยาวนักเมื่อต้นสังกัดถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบก่อนวันเลือกตั้ง และในปี พ.ศ. 2565 เต้น กลับสู่ชายคาเดิมอย่างพรรคเพื่อไทย พร้อมรับตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการ หาคะแนนเสียงให้แก่พรรคพร้อมชูนโยบายปิดสวิตช์ สว. ปิดสวิตช์ 3 ป.  

แต่เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไป การเลือกตั้งเสร็จสิ้น ก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ต้องส่งไม้ต่อมายังพรรคเพื่อไทย และเพื่อคะแนนเสียงที่เพียงพอต่อการโหวตนายก พรรคการเมืองแรกที่เป็นเหมือนบ้านหลังแรกของ ณัฐวุฒิ ตระบัดสัตย์ ดึงพรรคสองลุงร่วมรัฐบาล นี่จึงเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ขอยุติบทบาททุกอย่างและขอไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆ กับพรรคเพื่อไทยอีก