สน.บางโพ ปิดถนน สกัดม็อบรอบรัฐสภาวันโหวตนายกฯ 13 ก.ค.66

กันม็อบบุก! สน.บางโพประกาศ ปิดถนน ตั้งสิ่งกีดขวาง แยกเกียกกาย-ถนนสามเสน ธรรมศาสตร์โต้ สิทธิในการชุมนุมเป็นพื้นฐานทางการเมือง

หลังจากมีกำหนดการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันที่ 13 ก.ค. 66 และมีประกาศจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล เรื่องห้ามชุมนุมรอบรัฐสภาในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร ระหว่าง 12-15 ก.ค. 2566 เพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน รวมถึงเพื่อให้การบริหารการจัดการการชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

บช.น. ประกาศ ห้ามชุมนุมรอบรัฐสภา 50 เมตร

ส่งผลให้ วันนี้ (12 ก.ค. 66) สถานีตำรวจที่อยู่ใกล้รัฐสภา อย่าง สถานีตำรวจนครบาลบางโพ (สน.บางโพ)  ได้มีประกาศ เรื่อง คำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ปิดและปรับเส้นทางการจราจรเป็นการชั่วคราว 

เนื่องด้วยในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 จากข้อมูลด้านการข่าวและการประเมินสถานการณ์ จะมีกลุ่มมวลชนเข้ามาจัดกิจกรรมบริเวณโดยรอบรัฐสภา ประกอบกับได้มีประกาศคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ 315/2566 ลง วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ห้ามชุมนุมสาธารณะรอบรัฐสภาในรัศมี 50 เมตร ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 06.00 น. ถึง วันที่ 15 กรกฎาคม 2566 เวลา 24.00 น.  

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกของประชาชนในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบ และไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะ พุทธศักราช 2558 สั่งให้ปิด และปรับเส้นทางการจราจรบางเส้นทางเป็นการชั่วคราวตามที่เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมกำหนด เพื่อความสะดวกในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ดังนี้ 

1. ห้ามรถทุกชนิดเดินรถ หยุดหรือจอด ตลอดเวลา ในถนนสามเสน ตั้งแต่แยกเกียกกาย ถึง ถนนสามเสน บริเวณทางเข้า-ออกบริษัทบุญรอดประตู 3 

2. ให้มีการวาง ตั้งอุปกรณ์กีดขวางบนทาง ตามข้อ 1 ชั่วระยะเวลาที่จำเป็น 

3. คำสั่งนี้มิให้ใช้บังคับกับรถที่ได้รับอนุญาต 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เวลา 06.00 น. หรือจนกว่าสถานการณ์การชุมนุมจะเสร็จสิ้น 

ขณะเดียวกัน ทางด้านเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration ได้ออกมาโพสต์ แถลงการณ์ข้อเท็จจริง ในกรณีการนำเสนอข่าว การจัดกิจกรรมชุมนุมหน้ารัฐสภา หลังจากมีการรายงานข่าว ‘14 ด้อมส้มบุกสภา’ ระบุว่า 

หลังจากที่ได้มีการกล่าวอ้างกลุ่มองค์กรและพาดพิงชื่อบุคคลต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้เผยแพร่ตลอดหลายวันที่ผ่านมานั้น ทางแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเห็นว่า การนำเสนอข่าวพาดพิงชื่อบุคคลที่ 3 โดยปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งที่สามารถกระทำได้ เป็นการทำงานของสื่อที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง 

ทั้งนี้ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมขอชี้แจงว่า ขณะนี้ทางแนวร่วมธรรมศาสตร์ ยังไม่มีการตัดสินใจเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการใด ๆ ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 อย่างข้อมูลที่ได้มีการนำเสนอออกไปโดยสำนักข่าวหลายสำนัก 

โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมขอยืนยันและสนับสนุนหลักการพื้นฐานที่ว่า สมาชิกวุฒิสภาต้องเคารพมติเสียงข้างมากของประชาชนในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยการลงคะแนนตามมติเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนเจตจำนงโดยแท้ของประชาชน  

ทั้งนี้ สิทธิในการมีส่วนร่วมและสิทธิในการชุมนุม เป็นสิทธิพื้นฐานทางการเมืองที่สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้รับการบัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ  รัฐพึงมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงออกและมีส่วนร่วมในการกำหนด 

อย่างไรก็ตาม การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 นี้ ขอเชิญชวนทุกคนร่วมกันจับตาและเฝ้าติดตามการขานชื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด ผ่านทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ร่วมถึงการติดตามการลงมติ ณ บริเวณโดยรอบรัฐสภา ในพื้นที่ที่มีการจัดอำนวยความสะดวกไว้ 

ทิศทางความเป็นไปของประเทศจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ