ชาร์ลส์ บี ดี คิง บิดาบัตรเขย่ง แห่งไลบีเรีย

‘ชาร์ลส์ บี ดี คิง’ บิดาบัตรเขย่ง แห่งไลบีเรีย ชายผู้ชนะการเลือกตั้งขาดลอย 3 สมัย จน ‘กินเนสส์บุ๊ก’ ต้องจารึก

ศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 ชี้ชะตาประเทศนัดนี้ เดิมพันด้วยความหวังที่คนทั้งชาติอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ทำให้แต่ละพรรคการเมืองสู้กันดุเดือด ต่างงัดนโยบายหาเสียงสุดครีเอท เพื่อเอาใจกลุ่มแฟนคลับ และช่วงชิงคะแนนนิยม

แต่แล้วก็ต้องสะดุด เมื่ออุปสรรคใหญ่อีกอย่าง กลับเป็นกระบวนการเลือกตั้งที่ผู้กำกับดูแลอย่าง ‘กกต.’ ขาดตกบกพร่องในหน้าที่หลายประการ เช่น ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่มีชื่อในบัญชี, เขียนเขต/รหัสหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิด, ไม่ให้ถ่ายภาพสังเกตการณ์, ข้อมูลผู้สมัครและพรรคไม่ครบหรือสร้างความสับสน, ปิดผนึกซองไม่ถูกต้องและปัญหาอื่นๆ

รู้จัก’กกต.’ รวมวีรกรรม ก่อนประชาชนเกินล้านคน ลงชื่อถอดถอน

จนชาวทวิตเตอร์พากันติดแฮชแท็ก #กกต.ต้องติดคุก และ #กกต.มีไว้ทำไม จนติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์ข้ามวันข้ามคืน ขณะเดียวกัน ประชาชนราว 1,231,848 คน ณ เวลา 16.30 น.วันที่ 9 พ.ค.66 ได้ร่วมลงชื่อถอดถอน กกต. ผ่านเว็บไซต์ Change.org แล้ว โดยงานนี้ หากมีผู้ร่วมสนับสนุน 1.5 ล้านคน แคมเปญนี้จะเป็นหนึ่งในแคมเปญที่มีคนที่ลงชื่อมากที่สุดบนเว็บไซต์ดังกล่าว


ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่า พอจะต่อสู้กับความไม่ชอบมาพากลนี้ได้หรือไม่ และก็ยากที่จะวางใจกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อย่างกรณี ‘บัตรเขย่ง’ ที่จำนวนผู้ใช้สิทธิไม่ตรงกับบัตรที่ถูกใช้

แต่รู้หรือไม่ เราไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบพบเจอกับเหตุการณ์ ‘บัตรเขย่ง’ นี้  เพราะจากการค้นคว้าข้อมูล ‘อีจัน’ พบเรื่องราวของชายที่ชื่อ ‘ชาร์ลส์ บี ดี คิง’ ที่ถูกขนานนามว่า ‘บิดาแห่งบัตรเขย่ง’ และจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกัน 


ชาร์ลส์ บี ดี คิง (Charles B.D. king) บิดาบัตรเขย่ง แห่งไลบีเรีย หรือสาธารณรัฐไลบีเรีย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแอฟริกาตะวันตก โดยชายคนนี้ เป็นผู้ที่ชนะการเลือกตั้งมาอย่างขาดลอย จนได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 ของไลบีเรีย ถึง 3 สมัย

โดยก่อนที่ ชาร์ลส์ จะเข้ามาเป็นประธานาธิบดี เขาได้รับหน้าที่เป็นอัยการมาก่อน จากนั้น ไต่เต้าขึ้นมาเป็นเลขาธิการแห่งรัฐในปี 1912 และลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1919 จนสามารถเอาชนะการเลือกตั้งในสมัยแรก แต่ทว่าเมื่อได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว เขากลับทำตามนโยบายที่ตั้งไว้ไม่ได้

ประกอบกับจากการบริหารประเทศไม่ดีเท่าที่ควร เพราะแทนที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการต่อต้านความไม่เท่าเทียมของผู้คนในสังคม กลับส่งเสริมระบบอุปถัมภ์มากขึ้น และปัญหาชนพื้นเมืองที่ขาดโอกาสก็ไม่ได้รับการแก้ไข จึงทำให้ไลบีเรียเกิดความเหลื่อมล้ำสูง

อีกทั้ง ยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาบริหารประเทศ แต่กลับนำมาใช้ในการคอรัปชั่นและไม่ยอมคืน จึงทำให้สหรัฐอเมริกาไม่ให้ยืมอีกส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำถึงขีดสุด

ต่อมาในปี 1923 ด้วยความที่ ชาร์ลส์ ใกล้หมดวาระในการบริหารประเทศ เพื่อต่ออำนาจเขาได้ใช้กลยุทธ์อย่างลับๆ กับ กกต. ทำให้ได้อยู่ในตำแหน่งได้อีกครั้งในสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนรวมมากกว่า 45,000 คะแนน ขณะที่ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศมีเพียง 6,000 คน โดยไม่รู้ว่า บัตรผีเหล่านั้นมาจากไหน จึงทำไห้เขาได้กลายเป็น ‘บิดาแห่งบัตรเขย่ง’

โดยการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 นั้นเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ส่งผลให้ไลบีเรียประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก หนี้สินล้นประเทศ และยังมีการข่มขู่การใช้แรงงาน และปัญหาต่างๆ มากมาย


ต่อมาเมื่อใกล้หมดวาระที่ 2 ชาร์ลส์ ได้ใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อการได้มาซึ่งตำแหน่งอีกครั้ง โดยเขาได้คะแนนรวมสูงถึง 243,000 คะแนน จากจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 15,000 คน จนการโกงในครั้งนี้ได้ถูกบันทึกในกินเนสส์บุ๊ก

หลังจาก ชาร์ลส์ ครองตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่ 3 ก็เป็นที่จับตาของชาวโลก และยังโดนข้อหาทำผิดกฎหมายแรงงานทาสอย่างร้ายแรง ทำให้ทางสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ส่งคนมาสำรวจ และถูกกดดันจากนานาประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ไลบีเรียจนตรอก และชาร์ลส์ ก็ทนต่อความกดดันไม่ไหว จึงทำให้เขาพร้อมคณะ ต้องลงจากตำแหน่ง


ปิดตำนาน ‘บิดาแห่งบัตรเขย่ง’ ที่กินเวลานาน 10 ปี 


ในการเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.66 ของไทยรอบนี้ ‘อีจัน’ ก็หวังอย่างยิ่งที่จะเห็นการเมืองที่โปร่งใส ไร้บัตรเขย่ง บัตรผี ซ้ำเดิม และซ้ำรอยประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับไลบีเรีย

ขอทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา ไม่ให้มีการซื้อสิทธิขายเสียง และการทุจริตต่างๆ โดยหากพบการทุจริตการเลือกตั้ง ให้รีบแจ้ง กกต.ทันที โดยมีรางวัลนำจับสูงสุด 1 ล้านบาท