เตรียมตัวให้พร้อม สถิติออกแล้ว ร้อนนี้ คนไทยใช้ไฟมากกว่าปี 66

MEA มั่นใจระบบจำหน่ายไฟฟ้า พร้อมรับมือการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงฤดูร้อน 2567

เข้าสู่ฤดูค่าไฟพุ่งอีกแล้ว เมื่อเข้าหน้าร้อน

22 มีนาคม 2567 นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยถึง สถิติการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง คือพื้นที่ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ

สำหรับปี 2567 คาดการณ์ การใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ใช้งานมากที่สุดในรอบปี จากจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 4,266,995 ราย ค่า Peak ในระบบจำหน่ายของ MEA ไว้ที่ 9,934 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 1.2% จากปี 2566

โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน เมษายน ถึงช่วงต้นเดือน พฤษภาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง ประกอบกับสภาพอากาศร้อนเป็นอย่างมาก

ในขณะที่หน่วยจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ทั้งหมดของปี 2567 คาดว่าจะมีจำนวน 53,994 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 0.1% จากปีที่ผ่านมา

เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า และการเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพิ่มเติม

แต่ข่าวดี

การใช้ไฟฟ้าในปี 2567 ยังมีโอกาสชะลอตัวลงจากสาเหตุฐานการใช้ไฟฟ้าที่สูง และขยายตัวอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่เติบโตเฉลี่ยราวปีละ 4.28% จากผลของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ COVID-19 ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้อากาศร้อน ซึ่งคาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดในช่วงกลางปีนี้

รับมือยังไง เมื่อค่าไฟจะพุ่งในช่วงฤดูร้อน

MEA ให้คำแนะนำการประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน ว่า เมื่ออุณหภูมิสูงกว่าปกติส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานมากขึ้น เป็นเหตุให้เสียค่าไฟมากขึ้น วิธีการที่จะช่วยให้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย คือการหมั่นดูแล บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานและปลอดภัยอยู่เสมอและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ดี โดยยึดหลัก “ปิด – ปรับ – ปลด – เปลี่ยน”

โดยการปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ จะเป็นการช่วยให้ประหยัดพลังงาน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อย ๆ พกกระติกน้ำแข็งไว้ดื่ม ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็นตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า (เบอร์ 5) และควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ควรปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้ง เมื่อไม่ได้ใช้งาน หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที ป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งติดตั้งสายดิน พร้อมเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า

ผู้ว่าการ MEA กล่าวอีกว่า เมื่อประชาชนต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นในช่วงฤดูร้อน MEA จึงมีการเตรียมพร้อมระบบจำหน่ายไฟฟ้า ให้มีความมั่นคงและเพียงพอ ต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า

โดยเฉพาะหัวใจสำคัญอย่าง ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) ทำหน้าที่เป็นระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ในการตรวจสอบสถานะ ตลอดจนวิเคราะห์การทำงานของระบบควบคุมตรวจจับข้อมูล แล้วส่งสัญญาณแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบอย่างรวดเร็วแบบ Realtime ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ MEA เริ่มใช้เป็นองค์กรแรกในประเทศไทย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ระบบใหม่ของ MEA One-on-One แจ้งเตือนผู้ใช้ เมื่อเกิดไฟฟ้าขัดข้อง

นอกจากนี้ MEA ยังมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนไฟฟ้าขัดข้อง One-on-One ผ่านช่องทางสื่อสารของ MEA ได้แก่ MEA Smart Life Application และช่องทาง Line “MEA Connect” เพื่อแจ้งเตือนเหตุไฟฟ้าขัดข้องให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบไฟดับ ได้รับทราบทันทีผ่าน Notification แจ้งเตือน พร้อมทั้งสามารถติดตามความคืบหน้าการแก้ไขเหตุไฟฟ้าขัดข้องนั้น ๆ ได้ โดยระบบดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการ Field Force Management หรือ FFM ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้อง ผ่านการระบุตำแหน่งอุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบแผนที่ GIS ของ MEA ที่มีความแม่นยำ พร้อมรายงานไปยังศูนย์แก้ไขไฟฟ้าขัดข้องที่มีอยู่ในพื้นที่ 18 การไฟฟ้านครหลวงเขตให้รับทราบความคืบหน้าของแต่ละภารกิจได้ในทันที