เอไอเอส ประกาศกำไรสุทธิไตรมาสแรก 6,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1%

ไตรมาสแรกปี 66 ‘เอไอเอส’ กวาดรายได้ 46,712 ล้านบาท กำไร 6,757 ล้านบาท เติบโตขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ตลาดโทรคมนาคมแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยเมื่อวันที่ 1 มี.ค.66 ที่ผ่านมา ‘ทรู-ดีแทค’ ผู้เล่นเบอร์ 2 และ 3 ของตลาด ประกาศว่า ได้ดำเนินการควบรวมกิจการเสร็จสิ้นแล้ว และจดทะเบียนบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ หรือ ทรู

ส่งผลให้ ‘ทรู’ มีลูกค้าทั้งสิ้น 54.9 ล้านเลขหมาย (ณ สิ้นปี 2565) หรือเกินครึ่งหนึ่งของตลาดไปแล้ว จากจำนวนลูกค้า ‘ทรู’ 33.8 ล้านเลขหมาย และ’ดีแทค’ 21.1 ล้านเลขหมาย ดังนั้น จึงต้องจับตาการพลิกเกมสู้ของ ‘เอไอเอส’ ที่เคยเป็นเบอร์ 1 ของตลาด ด้วยจำนวนลูกค้า 46 ล้านเลขหมาย ว่าจะมีท่าไม้ตายเพื่อดึงลูกค้าให้หันมาซบอย่างไร

ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ค.66 ‘เอไอเอส’ โดย นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นตั้งใจของเอไอเอส ในการพัฒนา Digital Infrastructure ผ่านการยกระดับศักยภาพโครงข่ายอัจฉริยะให้มีความพร้อมต่อการทำงานเพื่อส่งมอบประสบการณ์การใช้งานให้กับลูกค้าและคนไทย

ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อก็เริ่มคลี่คลาย เราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของกำลังซื้อของผู้บริโภค และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภาพรวม โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศถึง 6.5 ล้านคน ขณะที่ผู้คนในประเทศก็เริ่มออกมาเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ AIS สามารถทำผลงานออกมาได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ สะท้อนถึงเป้าหมายการทำงานที่ไม่เพียงมอบประสบการณ์ดิจิทัลให้กับคนไทย แต่ยังสร้างโอกาสการเติบโตในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับหลากหลายอุตสาหกรรม พร้อมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบร่วมกัน หรือ ECOSYSTEM ECONOMY ภายใต้แนวทางหลักที่ยังคงเน้นย้ำถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะ ทั้งโครงข่าย 5G และเน็ตบ้าน เชื่อมต่อธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม ตั้งแต่พาร์ทเนอร์ระดับท้องถิ่นไป สู่ผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก

ผลประกอบการในไตรมาส 1/2566 แสดงรายได้รวม อยู่ที่ 46,712 ล้านบาท เติบโต 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิที่  6,757 ล้านบาท แสดงถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมกับการเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและส่งมอบคุณภาพและความครอบคลุมของโครงข่าย 5G และเน็ตบ้าน อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ความสามารถในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพทำให้สามารถส่งมอบ EBITDA อยู่ที่ 22,636 ล้านบาท เติบโต 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน และคงระดับความสามารถในการทำกำไร EBITDA margin ที่แข็งแกร่งที่ 48.5% โดยมีผลการดำเนินงานแยกตามรายธุรกิจดังนี้

• ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้จากการให้บริการเติบโตขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน มีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมที่ 46.1 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 108,000 ราย ในขณะที่มีผู้ใช้งาน 5G อยู่ที่กว่า 7.2 ล้านราย เติบโตขึ้นจาก 2.8 ล้านราย ในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา โดยเอไอเอส สามารถให้บริการ 5G ครอบคลุมถึง 87% ของพื้นที่ประชากรไทย ควบคู่ไปกับการขยายขีดความสามารถเพื่อให้รองรับกับปริมาณการใช้งานของลูกค้าและคนไทย

• ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มีรายได้เติบโตกว่า 11% จากไตรมาส 1 ปีก่อน และเติบโตต่อเนื่อง 4.3% จากไตรมาสก่อน โดยมีการขยายพื้นที่การให้บริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการที่เหนือกว่า ภายใต้เป้าหมาย Digital Experience for Thais กับการทำงานที่มุ่งตอบโจทย์ทุกพฤติกรรมของลูกค้า

ด้วยบริการที่จะมาเติมเต็มประสบการณ์การใช้งานอินเตอร์เน็ตภายในบ้านได้อย่างครบถ้วน อย่างความพร้อมในการให้บริการ WiFi 6E เทคโนโลยีมาตรฐานสัญญาณไร้สายใหม่บนคลื่นความถี่ใหม่ 6 กิกะเฮิรตซ์ เป็นรายแรกของอุตสาหกรรมบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตในเมืองไทย หรือแม้แต่การสร้างมาตรฐานใหม่ด้วยเทคโนโลยีสายไฟเบอร์ออฟติกโปร่งใส (Transparent Fiber Optic)

เชื่อมโยงอุปกรณ์กระจายสัญญาณและสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ Gigabit ทุกห้องภายในบ้านบนโครงข่ายเดียวกันเพื่อประสบการณ์ที่ดีที่สุดทุกพื้นที่ในบ้าน ทำให้ AIS Fibre มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 99,000 รายต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และมีฐานลูกค้ารวมกว่า 2.3 ล้านราย

• ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและธุรกิจอื่น โดย AIS Business ทำรายได้เติบโต 5.2% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน และยังคงเป็นส่วนงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม องค์กรธุรกิจและเอสเอ็มอี ไทยให้ เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน มุ่งนำขีดความสามารถของโครงข่ายมาเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจ 

อาทิ AIS PARAGON (Next Generation Orchestration Platform) ที่จะเป็นเสมือน 5G One Stop Platform ที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมบริหารจัดการทรัพยากรผ่าน Cloud และ Edge Computing ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่อย่าง Green Data Center

นายสมชัย กล่าวว่า ในปีนี้เอไอเอส ยังลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 27,000-30,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับโครงข่ายและการให้บริการสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะด้วยการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วนอย่างสอดประสานกันโดยใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาสร้างการเติบโตร่วมกันให้กับลูกค้า คนไทย และประเทศชาติ จนเกิดเป็น ECOSYSTEM ECONOMY ซึ่งจะทำให้เอไอเอส สามารถส่งมอบประสบการณ์และบริการดิจิทัล ทั้งโครงข่ายสื่อสารอัจฉริยะ และเน็ตบ้าน ให้กับลูกค้าทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ