ออสเตรเลียจ่อขึ้นทะเบียน ‘โคอาลา’ เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ออสเตรเลียแถลงอาจมีการขึ้นทะเบียน “โคอาลา” เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หลังโคอาล่าเซ่นพิษไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์

วันนี้ 14 ม.ค. 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า

ซุสซาน เลย์ (Sussan Ley) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย แถลงว่าอาจมีการขึ้นทะเบียน "โคอาลา" สัตว์ขึ้นชื่อของออสเตรเลียเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ สืบเนื่องจากเหตุไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์

ภาพจากอีจัน
เมื่อวันจันทร์ (13 ม.ค.) เลย์ และจอช ฟรีเดนเบิร์ก (Josh Frydenberg) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แถลงการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 50 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 1.04 พันล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติไฟป่า
ภาพจากอีจัน

เลย์กล่าวว่าประชากรโคอาลาเผชิญกับ "การโจมตีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" จากไฟป่าที่ลุกลาม และอาจมีการประกาศให้สัตว์สายพันธุ์โด่งดังนี้เป็นสัตว์ "ใกล้สูญพันธุ์" อย่างเป็นทางการ

โคอาลาถูกจัดว่าเป็นสัตว์ "มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์" ตั้งแต่ปี 2012 แต่เลย์ระบุว่าคณะกรรมการวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (TSSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดสถานะของสัตว์ทุกสายพันธุ์ในออสเตรเลีย อาจเปลี่ยนแปลงสถานะดังกล่าวในอีกไม่ช้า

ภาพจากอีจัน

"แน่นอนว่ามีโคอาลาตายไปจำนวนมหาศาล และยังมีที่ได้รับบาดเจ็บอีกไม่น้อย" ดิออสเตรเลียน (The Australian) สื่อท้องถิ่นรายงานอ้างรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม

"ความจริงคือว่าเราไม่รู้ระดับความเสียหายที่แท้จริงของไฟป่าครั้งนี้ จนกว่าเปลวเพลิงจะมอดดับและทำแผนที่ออกมา"

คณะผู้เชี่ยวชาญต่างเกรงว่าประชากรโคอาลาที่อาศัยอยู่บนเกาะจิงโจ้ (Kangaroo Island) ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย (SA) ถึง 50,000 ตัว อาจถูกเปลวเพลิงเผาผลาญจนล้มตายไปแล้วถึงครึ่งหนึ่ง

ภาพจากอีจัน

"เราจะทำทุกทางเท่าที่ทำได้ เพื่อช่วยชีวิตและฟื้นฟูที่อยู่ของโคอาลา อาทิ แนวทางใหม่ที่มุ่งสรรหาที่อยู่ใหม่ให้โคอาลา" เลย์กล่าวเมื่อวันจันทร์ (13 ม.ค.)

แซลลี บอกซ์ (Sally Box) ซึ่งจะเป็นประธานคณะกรรมการการฟื้นฟูระยะยาวร่วมกับเลย์ เปิดเผยว่าครึ่งหนึ่งของกองทุนที่เพิ่มเข้ามาจะนำไปช่วยเหลือสวนสัตว์ เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ และโรงพยาบาล

ภาพจากอีจัน

"เงินก้อนนี้อาจเป็นเรื่องของการปกป้องที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์สายพันธุ์นี้ที่ยังเหลืออยู่ อาจเป็นเรื่องของการควบคุมศัตรูพืชและวัชพืช และอาจเป็นเรื่องของการพิทักษ์ประชากรสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์และนำพวกมันไปดูแลในสวนสัตว์" บอกซ์กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.xinhuathai.com/