ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 3 สถานที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัมพูชา 

ยูเนสโก รับรองสถานที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุคเขมรแดง 3 แห่ง ของกัมพูชา คุกเอ็ม 13 – พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง – ทุ่งสังหาร ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

จากโศกนาฏกรรมอันเจ็บปวดของกัมพูชา สู่มรดกโลก 

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันศุกร์ ที่ 11 ก.ค.68 แถลงการณ์จากกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ของกัมพูชา เผยว่ากลุ่มอนุสรณ์สถานของกัมพูชา (The Cambodian Memorial Sites) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก (UNESCO) ระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก (UNESCO) ครั้งที่ 47 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส โดยการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ทำให้กัมพูชามีจำนวนแหล่งมรดกโลกเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง 

แถลงการณ์ระบุว่า การขึ้นทะเบียนทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจของชาติสำหรับกัมพูชา ต่อจากความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันเป็นสัญลักษณ์ของชาติอย่างหมู่ปราสาทนครวัดในปี 1992 ปราสาทพระวิหารในปี 2008 แหล่งโบราณคดีสมโบร์ไพรกุกในปี 2017 และแหล่งโบราณคดีเกาะแกร์ในปี 2023 

อนุสรณ์สถานของกัมพูชา ถือเป็นมรดกทางโบราณคดีสมัยใหม่ที่ไม่ใช่แบบคลาสสิก (non-classical) แห่งแรกของกัมพูชาที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยกลุ่มอนุสรณ์สถานข้างต้นประกอบด้วย คุกเอ็ม-13 (M-13 prison) ในอดีต ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดกำปงฉนัง และจังหวัดกำปงสปือ พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง (Tuol Sleng Genocide Museum) และทุ่งสังหารเจืองเอ็ก (Choeung Ek Genocidal Center) ซึ่งทั้งสองแห่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา 

ด้านฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า การขึ้นทะเบียน “กลุ่มอนุสรณ์สถานของกัมพูชา” ไม่เพียงแต่เป็นการให้เกียรติสถานที่เชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการยอมรับถึงประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดของกัมพูชา พร้อมสำทับว่าสถานที่เหล่านี้เป็นตัวอย่างให้มนุษยชาติได้เห็นว่ากัมพูชาสามารถฟื้นตัวจากโศกนาฏกรรมได้อย่างไร ซึ่งไม่ใช่ด้วยการลืมเลือน แต่ด้วยการรำลึกและเปลี่ยนความทรงจำเหล่านั้นให้กลายเป็นพลังเพื่อสันติภาพ