“เวียดนาม” ใช้ถุงน้ำทับหลังคา รับมือพายุ “วิภา”

พร้อมแล้ว! ชาวเวียดนามร่วมใจ เร่งสูบน้ำใส่ถุงพลาสติกทับหลังคา พร้อมรับมือ “พายุวิภา” หลังเคลื่อนตัวจ่อเวียดนาม  

จากกรณีกรมอุตุนิยมวิทยาไทย ได้ออกประกาศฉบับที่ 10 (22 ก.ค. 2568 เวลา 05.00 น.) รายงานถึงสถานการณ์ “พายุวิภา” ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในอ่าวตังเกี๋ย ห่างจากเมืองท้ายบิ่ญ ประเทศเวียดนาม 50 กม. และมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กม./ชม. ซึ่งคาดว่าพายุจะเคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองท้ายบิ่ญภายในวันนี้ ซึ่งล่าสุดประชาชนเวียดนาม ได้เตรียมตัวรับมือกับ “พายุวิภา” ที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว 

(20 ก.ค. 68 ) สื่อต่างประเทศ เปิดเผยถึงวิธีเตรียมการรับมือกับ “พายุวิภา” ของประชาชนจังหวัดกว๋างนิญว่า ประเทศเวียดนาม ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์รุนแรงของพายุหมายเลข 3 วิภา ซึ่งทำให้มีฝนตกหนักและลมกระโชกแรง ประชาชนจึงได้ดำเนินการเชิงรุกต่างๆ มากมายเพื่อป้องกันและต่อสู้กับพายุ เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากพายุเมื่อพัดขึ้นฝั่ง 1 ในนั้นคือการนำถุงอัดน้ำวางหนุนไว้บนหลังคาบ้าน

สองสามีภรรยา นายเหงวียนวันตวน (Nguyễn Văn Tuấn) จากแขวง 3 เขตฮาอาน เปิดเผยว่า “ปีที่แล้วตอนพายุไต้ฝุ่นยากิพัดถล่ม ครอบครัวของเราได้รับความเสียหายอย่างหนัก หลังคาเหล็กลูกฟูกทั้งหมดปลิวหายไปหมด จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ว่าพายุไต้ฝุ่นหมายเลข 3 ก็รุนแรงมากเช่นกัน จึงสูบน้ำใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่และถังพลาสติกเพื่อกดทับหลังคาเหล็กลูกฟูก เพื่อป้องกันลมพัดหลังคาปลิวไป เมื่อพายุสงบลง น้ำก็ระบายออกได้ง่ายและเก็บไว้ใช้ครั้งต่อไป” 

ขณะที่นายหว่างวันตู้ (Hoàng Văn Tú) จากเขตกว๋างเยินกล่าวว่า “เราไม่ประมาท เตรียมรับมือไว้ก่อน ย่อมช่วยลดความเสียหายจากพายุได้เยอะ ใช้ของใกล้ตัว เช่น ถุงทราย ถุงน้ำ เชือก มัดหลังคาให้แน่น รวมทั้งตัดกิ่งไม้ ย้ายกระถางต้นไม้บนที่สูงลงมา ตรวจสอบประตูหน้าต่างและสายไฟในบ้านให้เรียบร้อย” 

ทั้งนี้มีรายงานว่า ในหลายพื้นที่ของจังหวัดกว๋างนิญ ประชาชนได้ร่วมกันเสริมหลังคาเหล็กลูกฟูก มุงหลังคาบ้าน ผูกแพอาหารทะเล และนำเรือประมงไปยังที่พักพิงที่ปลอดภัย เรือท่องเที่ยวก็ถูกนำเข้ามายังพื้นที่พักพิง เช่นเดียวกับ เรือบรรทุกสินค้าบางลำก็ถูกนำเข้ามาพักพิง

ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันภัยธรรมชาติจังหวัดกว๋างนิญ ได้ร้องคำขอเฉพาะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานการท่าเรือทางน้ำภายในประเทศ เพื่อแจ้งให้นักท่องเที่ยวทราบเกี่ยวกับสถานการณ์พายุ และจัดเตรียมตารางเวลาที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดในพื้นที่ท่องเที่ยวชายฝั่งหากเกิดการห้ามเดินเรือ 

หน่วยงานชายฝั่งต้องดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและยานพาหนะในที่พักพิงและแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ต้องเตรียมกำลัง ยานพาหนะ และแผนรับมือพายุและฝนตกหนัก การปฏิบัติหน้าที่ต้องจัดระบบอย่างจริงจัง พร้อมรับและปฏิบัติตามคำสั่งเพิ่มเติมจากส่วนกลางและส่วนจังหวัดต่อไป 

แม้พายุวิภาจะยังไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่ผลกระทบทางอ้อมจากฝนและลมแรงยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม ประชาชนควรระมัดระวังในการเดินทาง หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและโครงสร้างบ้านให้อยู่ในสภาพปลอดภัย พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำจากหน่วยงานอย่างเคร่งครัด “อีจัน” เป็นห่วงค่ะ

ขอบคุณข้อมูล : Vietnam+