เข้าใจนะ! ‘ประกันสังคม’ ยังราคาเดิม ที่ว่าเก็บเพิ่ม เป็นข่าวปลอม

ผู้ประกันตน ยิ้มออก! รองโฆษกรัฐบาล แจง จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน สูงสุดยังไม่เกิน 750 บาท/เดือน ไม่มีแผนปรับเพิ่มเป็น 875 บาท/เดือน

กองทุนประกันสังคม เป็นกองทุนสวัสดิการหลักสำหรับพนักงานออฟฟิศ ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากความสำคัญในการให้การคุ้มครองที่หลากหลาย ตั้งแต่การเจ็บป่วย คลอดบุตร จนถึงกรณีทุพพลภาพหรือเสียชีวิต

ล่าสุด วันนี้ (5 ม.ค.67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงถึงข่าวลือที่ว่า สำนักงานประกันสังคมจะเพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินสมทบจาก 750 บาท เป็น 875 บาทต่อเดือน โดยระบุว่าข่าวดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ โดยทางสำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว ยืนยันว่าไม่มีแผนการปรับเพิ่มอัตราดังกล่าว

ข้อมูลที่ถูกต้องคือ กองทุนประกันสังคม ยังคงจัดเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 จากฐานคำนวณค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งเท่ากับเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน และไม่มีแผนปรับเพิ่มเป็น 875 บาทต่อเดือน ตามที่ข่าวลือกล่าวอ้าง

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงาน ผ่านสำนักงานประกันสังคม กำลังพิจารณาร่างกฎกระทรวงใหม่เพื่อปรับปรุงเพดานค่าจ้างสำหรับการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของปี 2567 โดยแผนนี้จะส่งผลต่อผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวนมากถึง 11,833,086 คน ณ เดือน ต.ค.2566 ค่าจ้างขั้นต่ำและสูงสุดจะถูกปรับเป็นขั้นบันได 3 ระยะ

  • ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท จะจ่ายประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท
  • ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2570 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท
  • ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท

สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้

1.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
2.เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
3.เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
4.เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
5.เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน

สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ

ตัวอย่างผลประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ในปี 2567
1.เงินทดแทนกรณีว่างงาน ผู้ประกันตนที่ค่าจ้างมากกว่า 17,500 บาท จะส่งเงินสมทบเดือนละ 875 บาท (เดิม 750 บาท) และจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เงินทดแทนขาดรายได้กรณีว่างงานเพิ่มเป็นเดือนละ 8,750 บาท (เดิม 7,500 บาท) เป็นต้น
2.เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย เพิ่มเป็น 292 บาท/วัน จากเดิม 250 บาท/วัน
3.เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เพิ่มเป็น 8,750 บาท/เดือน จากเดิม 7,500 บาท/เดือน
4.เงินสงเคราะห์กรณีลาคลอด เพิ่มเป็น 26,250 บาท/เดือน จากเดิม 22,500 บาท/เดือน
5.เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต เพิ่มเป็น 35,000 บาท/เดือน จากเดิม 30,000 บาท/เดือน
6.เงินบำนาญ โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี ได้รับเพิ่มเป็น 3,500 บาท/เดือน จากเดิม 3,000 บาท/เดือน ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี ได้รับเพิ่มเป็น 6,125 บาท/เดือน จากเดิม 5,250 บาท/เดือน

สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น จากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน