
วันนี้ (14 ก.ค.68) รายงานจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่เอกสารผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ แม้ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา
แต่ผู้ประกอบการกลับสะท้อนมุมมองการทำธุรกิจที่ยากลำบากขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ อาทิ อุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง จึงซ้ำเติมให้ปัญหาเชิงโครงสร้างของธุรกิจมีอาการที่ชัดเจนและรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ สามารถสรุปอุปสรรคเชิงโครงสร้างของธุรกิจที่สำคัญใน 3 ด้าน ดังนี้
1.อุปทานล้นตลาด (Oversupply) ตัวอย่างในธุรกิจโรงแรม ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง Airbnb ที่มีจำนวนห้องพักเกือบ 2 แสนห้อง เทียบกับจำนวนห้องพักโรงแรมทั้งหมดอยู่ที่ 1.3 ล้านห้อง ในปี 2566 หรือคิดเป็นประมาณ 15% ของจำนวนห้องพักทั้งหมด
ประกอบกับจำนวนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง โดยเฉพาะจีนที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของโรงแรมต่ำกว่าระดับ 3 ดาว ทำให้ธุรกิจโรงแรมประสบภาวะโอเวอร์ซัพพลายรุนแรงมากในช่วงหลัง
เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหาร ผู้เล่นรายใหม่เพิ่มเป็นเท่าตัวจากช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เปิดง่าย มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Barrier to Entry) ต่ำ ประกอบกับการเข้ามาของ food delivery platform ที่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในการแข่งขันของวงการอาหารไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19
ขณะที่กำลังซื้อเติบโตไม่ทัน อุปทานส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่เติบโตเพียง 12% จากช่วงก่อนโควิด-19 ดังนั้น
ธุรกิจร้านอาหารจึงประสบกับภาวะโอเวอร์ซัพพลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว
2.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค (Demand Preferences) ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์แพลตฟอร์ม เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดการค้าปลีกแบบออฟไลน์แบบก้าวกระโดด สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าอีคอมเมิร์ซ ต่อมูลค่าตลาดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้มขึ้นจาก 7% ในปี 2562 มาอยู่ที่ 25% ในปี 2567 ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกรุนแรงขึ้นมาก ธุรกิจรายใหญ่ในส่วนกลางจึงต้องขยายสาขาไปแข่งขันในภูมิภาคกับผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยในท้องถิ่นมากขึ้น
3.การแข่งขันด้านราคา (Price Competition) ธุรกิจยานยนยนต์และเครื่องนุ่มห่ม เผชิญการแย่งส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจากสินค้าต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เช่น ราคาเครื่องนุ่งห่มจีนที่ต่ำกว่าสินค้าไทยถึง 20% และสัดส่วนการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากจีนต่อยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 44% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 เทียบกับ 36% ในช่วงก่อนโควิด-19

รายงานระบุอีกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายจากหลายด้าน การปรับตัวของธุรกิจจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างมากในการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และสร้างภูมิต้านทานความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาใน
ระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี การปรับตัวของภาคธุรกิจโดยลำพังอาจยังไม่เพียงพอ ในภาพรวมธุรกิจยังต้องการมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนกระบวนการยกระดับความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปด้วย
สิ่งที่สำคัญคือ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมุ่งออกแบบนโยบายที่ตรงจุดและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ ทั้งในด้านการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การพัฒนาองค์ความรู้ของธุรกิจและทักษะแรงงาน รวมถึงโอกาสทางการตลาด แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยบรรเทาผลกระทบระยะสั้นได้บ้าง แต่ไม่ใช่แนวทางที่ตรงจุดในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นต้นตอของความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงได้อย่างยั่งยืน