
วันนี้ (14 ก.ค. 2568) นายพิชัย ชุณวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ภายในงานเสวนา เรื่อง Roundtable: The Art of The (Re) Deal จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า มาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไปยังสหรัฐยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเรื่องนี้จะจบเมื่อใด และบทสรุปจะเป็นอย่างไร ขณะที่ตลาดหุ้นก็สงสัญญาณบวกขึ้นแปลกๆ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ สวนทางกับตลาดพันธบัตรที่ไปคนละทางสะท้อนถึงความไม่มั่นใจ
ขณะนี้กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบไทยที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐในทุกเซกเตอร์ ส่วนข้อเสนอของเอกชนที่รัฐบาลกำหนดให้ส่งภายในวันที่ 14 ก.ค. 2568 นั้น ยังไม่ใช่เดดไลน์เอกชนสามารถส่งมาได้เรื่อยๆ
“เงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2 แสนล้านบาท รัฐให้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารของรัฐ เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ รวมถึงธนาคารอาคารสงเคราะห์ EXIM BANK แม้จะไม่เกี่ยวข้องซะทีเดียว” นายพิชัย กล่าว
สำหรับวันนี้สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทย (Local Content) ยังไม่สมารถระบุได้ว่าจะถูกเก็บในอัตราเท่ากันทั้งหมดหรือไม่ ส่วนแนวทางการเจรจาไทยอาจจะต้องเพิ่มสินค้านำเข้าจากสหรัฐเพิ่มเติมจากสินค่ที่เรานำเข้าอยู่แล้ว ขณะที่สินค้าที่อยู่ในข้อตกลง FTA ภาษี 0% อยู่แล้ว ส่วนสินค้าใดที่อยู่นอกเหนือจาก FTA ก็จะยังคงอัตราภาษีนำเข้าจากสรัฐเท่าเดิมเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัว
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจะใช้โอกาสจากมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐเพื่อปรับตัวและเร่งแก้ปัญหาในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกร ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนดีมานด์และซัพพลาย การปรับปรุงพันธุ์พืช น้ำ ดิน บริหารต้นทุน รวมถึงเปิดตลาดใหม่ ลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งให้มากที่สุด
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ หลังพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป โดยเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพมากขึ้น เพราะเป็นเซกเตอร์ใหญ่และจะเห็นผลชัดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวหายไป และระวังตัวเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โดยเน้นอุตสาหกรรมการผลิต การตลาด พึ่งพาดิจิทัลให้มากขึ้น รวมถึงการสวมสิทธิ์และสิน้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทยที่จะต้องมาปรับคำนิยามใหม่ จากเดิมสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทยจะต้องมีสัดส่วนการลงทุนในไทย 40% นิยามใหม่อาจจะเปลี่ยนเป็น 60% และหากมีถิ่นกำเนิดในไทยเยอะก็แสดงว่าผลิตในไทย