
(วันนี้ 14 ก.ค.68) ถ้าใครเลื่อนฟีด TikTok Facebook หรือแม้กระทั่ง IG ในช่วงนี้ แล้วรู้สึกว่าฟีดของตัวเองเต็มไปด้วย “ละครสั้นจีน” ที่มีพล็อตดราม่าจัดเต็ม และพอได้เข้าไปดูสักนิดแล้วก็จบแบบค้างคา จนต้องหาต้นตอไปดูต่อ บอกเลยว่าไม่ใช่คุณคนเดียว เพราะนี่คือปรากฏการณ์ที่กำลังพลิกโฉมวงการบันเทิงทั่วเอเชีย
“ละครสั้นจีน” หรือที่คนจีนเรียกว่า Duanju คือ มินิซีรีส์แนวดิ่ง ที่เน้นความสั้น กระชับ เร้าใจ และเข้าถึงง่าย ส่วนใหญ่มีความยาวแค่ 1-5 นาทีต่อตอน และสามารถจบได้ภายใน 20-30 ตอน บางเรื่องก็ลากยาวไปเกือบ 100 ตอน แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ มันกลายเป็นธุรกิจที่กำลังทำเงินระดับหมื่นล้าน

ปี 2567 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมละครสั้นจีน มีรายได้รวมกว่า 50,440 ล้านหยวน (ราว 234,000 ล้านบาท) และปี 2568 นี้คาดว่าจะพุ่งถึง 4.84 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 35% ต่อปี iResearch คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะ เติบโตเป็น 2 เท่า ภายในปี 2571
ทำไมละครสั้นจีนถึง “ปัง” ได้ขนาดนี้?
เพราะทีมโปรดักชันจีน “เข้าใจคนดู” และ “เข้าใจแพลตฟอร์ม” กับทริคที่ทำให้คนดูติดหนึบ เข้าถึงง่าย ไม่ต้องโหลดแอปใหม่ แค่เลื่อนฟีดผ่านๆ ก็จะเจอละครสั้นขึ้นมาล่อตาล่อใจ ชวนให้กดเข้าไปดูทันที บวกกับอัลกอริทึมรู้ใจ จะส่งคลิปแนวเดียวกันมาให้ดูซ้ำ หากผู้ชมมี engagement เช่น กดดูนาน หรือ คอมเมนต์ มีเทคนิค “หั่นตอน” ตอนละ 1 นาทีนิดๆ ดูจบไว แต่ต้องดูต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้ตัว จนต้องไปที่แอปพลิเคชั่น ของละครสั้นเรื่องนั้นๆ
ละครสั้นจีน ที่มาพร้อมกับ Freemium Model ดูฟรี 2-3 ตอนแรก พอถึงฉากพีคก็ต้อง “จ่าย” ถึงจะดูต่อได้ เฉลี่ย 300-400 บาทต่อเรื่อง มีเนื้อเรื่องดราม่าหนักมาก มีทุกอย่างตั้งแต่ แก้แค้น ปลอมตัว รักต้องห้าม ตอบโจทย์คนไทยที่ชอบดราม่าแบบถึงอารมณ์ พร้อมกับตั้งชื่อไทยจ๋า ทั้งที่เป็นเรื่องจีนย้อนยุค แต่ช่วยให้คนไทยรู้สึกใกล้ชิด และกลายเป็นไวรัล ตัดจบแบบค้างคาใจ คงความคลาสสิกของละครจีนแนวสั้น จบตอนที่พระเอกกำลังจะพูดความลับ หรือจุดพีคของเรื่อง

เบื้องหลังอุตสาหกรรมละครสั้นจีน
- ที่เซี่ยงไฮ้ มีการเปิด “ศูนย์วิดีโอสั้น” พร้อมฉากถ่ายทำจริง เช่น ห้องพาร์ตเมนต์, โรงพยาบาล, สถานีตำรวจ
- อุปกรณ์ในฉากบางส่วนเป็นของจริง เพื่อสร้างความสมจริง
- สตูดิโอหนึ่งสามารถผลิตซีรีส์ได้สูงสุด 100 เรื่องต่อเดือน
- ธุรกิจต่างชาติเริ่มใช้ละครสั้นทำแบรนด์ เช่น Starbucks, McDonald’s ก็เปิดตัวละครสั้นใน Douyin ปีที่แล้ว
ละครสั้นจีน แค่คลิปสนุกหรืออนาคตบันเทิงใหม่?
Joey Jia ซีอีโอ ReelShort เชื่อว่า “มินิดราม่าอาจแซงหนัง-ซีรีส์ดั้งเดิมในอีกไม่กี่ปี” Yu Gong ซีอีโอ iQiyi เผยว่า กว่า 95% ของละครสั้นบนแพลตฟอร์มทำรายได้เกิน 1 ล้านหยวนต่อเรื่อง จากละคร 40 นาทีในอดีต สู่ตอนละไม่ถึง 2 นาทีวันนี้ แต่ละคลิปต้องเล่าเรื่องให้จบ มีพีค มีคอนฟลิกต์ และมี Hook จนคนดูต้องไถต่อไปตอนต่อไป
ในมุมมองเศรษฐกิจที่น่าสนใจ คนจีนกว่า 1 ใน 3 ที่ใช้อินเทอร์เน็ต ดูละครสั้นทุกวัน
ปี 2567 การค้นหาคำว่า “ละครสั้นจีน” บน TikTok เพิ่มขึ้น 300% ภายใน 1 ปี แฮชแท็ก #短剧 (Duanju) มียอดวิวรวม เกิน 3 แสนล้านครั้ง
ละครสั้นจีน ไม่ใช่แค่ “ละคร” แต่คือ “โมเดลธุรกิจ” ที่เข้าใจพฤติกรรมคนดูยุคใหม่แบบลึกซึ้ง และกำลังขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ใครที่เคยบอกว่า “ดูนิดเดียวไม่ติดหรอก” ลองย้อนดูในใจอีกทีว่า แล้วตอนนี้คุณดูไปกี่ตอนแล้ว?