
(วันนี้ 12 ก.ค.68) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินว่า ภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจากไทยในรอบล่าสุด อาจกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหากไทยถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
SCB EIC สรุปผลกระทบหลักไว้ 5 ประเด็น ดังนี้
1. ไทยเสี่ยงเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกให้คู่แข่ง
สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจถูกกีดกันทางภาษีมากกว่าประเทศอื่น ทำให้ไทยเสียเปรียบด้านราคา อีกทั้งอาจเผชิญการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดขึ้น เหมือนกรณีเวียดนามที่ผ่านมา
2. หากไทยยอมเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้สหรัฐฯ อุตสาหกรรมในประเทศอาจสั่นคลอน
สินค้าสุกร, ไก่เนื้อ และข้าวโพด มีต้นทุนสูงกว่าสหรัฐฯ มาก หากเปิดเสรีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ จะกระทบเกษตรกรรายย่อยในประเทศ แม้ผู้บริโภคอาจได้สินค้าราคาถูกลง
3. อุปสงค์ในประเทศและการลงทุนอาจแผ่วแรงช่วงปลายปี
ความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจ ขณะที่ผู้บริโภคอาจใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ซบเซาหนัก โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้ครัวเรือน
4. มีแนวโน้มสูงที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยเพิ่มในปีนี้
หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น SCB EIC คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจ
5. ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนักรอบด้านก่อนเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ
การเจรจาเพื่อลดภาษีต้องระวังไม่ให้เกิดผลเสียกับผู้ประกอบการในประเทศ ควรเปิดตลาดบางรายการแบบมีเงื่อนไข และเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งด้านสภาพคล่องและการพัฒนาแข่งขัน
ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นแรงกดดันใหม่ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการส่งออก การลงทุนในประเทศ และการบริโภค ภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมรับมือ พร้อมกำหนดทิศทางเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบระยะยาว